เราต้องเคยได้ยินข่าวความเป็นที่สุดของหนี้ประเทศจีน เช่น ระดับหนี้สาธารณะขนาดยักษ์ในประเทศที่ปี 2015 เกือบฟองสบู่จะแตก หรือข่าวที่จีนมีหนี้ในประเทศมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก บทความนี้เราจะพาคุณมารู้จักหนี้กลุ่มต่าง ๆ ของจีนให้มากขึ้น โดยแบ่งตามโครงสร้างในประเทศและนอกประเทศ
ในประเทศ
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในค่าเงินหยวน ประกอบด้วยหนี้บริษัท (เอกชนและรัฐวิสาหกิจ), หนี้ครัวเรือน, หนี้รัฐบาล
ซึ่งหนี้รัฐวิสาหกิจจำนวนมากเป็นของรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้ามาถือหุ้น ทำให้การใช้จ่ายเงินส่วนนี้มักเกิดการทุจริตอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงมักใช้อย่างไม่มีคุณภาพ เช่น ไปสร้างตึกสร้างสะพานใหญ่โตเกินเหตุ
ปัจจุบันจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับหนี้สูงที่สุดในโลก เนื่องจากกู้แหลกตั้งแต่วิกฤต Subprime จนมาถึงปี 2015 ที่ฟองสบู่จะแตก จึงทำให้เป้าหมายของรัฐบาลต้องเปลี่ยนไป ไม่เน้นการเติบโตเศรษฐกิจแบบตัวเลขสูงมาก ๆ กลายมาเป็นโตอย่างมีคุณภาพแทน
โดยผู้ให้ตลาดในประเทศจีนกู้ก็ไม่ใช้ใครที่ไหน เป็นคนจีนด้วยกันเอง ผ่านการดึงธนาคาร, บริษัทประกัน มาซื้อตราสารหนี้ และตอนนี้ตลาดหนี้ในจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ)
ล่าสุดเริ่มเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ด้วยการให้ลงทุนผ่านโครงการ Bond Connect และ QFII (Qualified Foreign Institutional Investor) ซึ่งนักลงทุนระดับโลกอย่าง Ray Dalio มักพูดอยู่บ่อยว่า “ตลาดตราสารหนี้จีนคืออนาคตของการลงทุน”
นอกประเทศ
ชื่อเสียงขึ้นชื่อคือการที่จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ และการให้ประเทศกำลังพัฒนากู้เพื่อร่วมในโครงการ Belt and Road Initiative
แต่สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทำให้รัฐบาลจีนเริ่มตีตัวออกห่าง ไม่ยอมซื้อพันธบัตรสหรัฐ (ให้สหรัฐฯ กู้) เยอะเหมือนเดิม เปลี่ยนไปสะสมทองคำมากขึ้น
ขณะที่ประเด็น Belt and Road Initiative ก็มีความขัดแย้งกับรัฐบาลท้องถิ่นหลายครั้ง เพราะจีนมักเสนอปล่อยกู้เยอะ ๆ จนประเทศปลายทางใช้หนี้คืนไม่ได้แล้วเปลี่ยนไปยึดทรัพย์สินอื่นแทน เคสที่รุนแรงที่สุดเป็นการเข้าครอบครองท่าเรือสำคัญในศรีลังกาที่เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร ทำให้ทั้งอินเดียและสหรัฐต้องวิ่งพล่าน
ในยุคดอกเบี้ยต่ำติดดินอย่างนี้ ตราสารหนี้จีนถือว่าเป็นประเทศใหญ่ที่ยังให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับสหรัฐ, ยุโรป, ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจในยุคนี้
BottomLiner