เรียนรู้จากวิกฤติ ตอนที่ 1: รู้จัก Tronics & Nifty 50 Bubbles ฟองสบู่หุ้นนวัตกรรมและ หุ้น Blue Chip ในยุค 60-70
รู้หรือไม่ว่านอกจาก Great Depression, Dot-com Bubble และ Hamburger crisis แล้ว โลกนี้ยังมีฟองสบู่เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แม้ความรุนแรงในเศรษฐกิจอาจจะไม่เท่า แต่ผลกระทบในตลาดหุ้นนั้นถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
วันนี้ BottomLiner จะมาเล่าถึง Tronics Bubble และ Nifty 50 Bubble ซึ่งเกิดในช่วงยุค 60-70 ซึ่งเป็นฟองสบู่ที่หลายคนมองข้ามไป
เพราะคำว่า “this time it’s different” (เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ) ที่เพจเรายกมาพูดบ่อย ๆ ถูกใช้มาตลอดในทุกฟองสบู่
ย้อนกลับไปในปี 1959 โลกตื่นเต้นมาก ๆ กับการมาของ “แผงวงจร electronic” และชิ้นส่วนวงจรเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “MOSFET” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ถูกนำเข้ามาใช้แทนชิ้นส่วนที่เป็นหลอดแก้วสูญญากาศแบบเดิม ทำให้แผงวงจร electronic สามารถเข้าสู่ mass production ได้เป็นครั้งแรก
การผลิตทำได้รวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกัน MOSFET คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกนี้รู้จักกับ “สัญญาณ Digital” และเข้ามาปฏิวัติวงการ electronic ให้เปลี่ยนไปตลอดกาล เรียกได้ว่าโลกรู้จักกับชิพ semiconductor ในยุคแรก ทำให้ในช่วงปี 60 นี่เอง ที่ผู้คนได้สัมผัสกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่เคยสัมผัสมาก่อน และมันสร้างความฝันอันยิ่งใหญ่ให้กับทุกคน รวมถึงนักลงทุนในตลาดด้วย
หุ้นผู้ผลิตนวัตกรรมอย่าง Texas Instruments และ IBM ถูกซื้อขายกันที่ P/E กว่า 80-100 เท่า (ก่อนหน้านั้นหุ้นเทรดกัน P/E ประมาณ 10-30 เท่า) นอกจากนี้ยังมีหุ้นบริษัทใหม่ ๆ เข้าตลาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ความบ้าคลั่งของนวัตกรรม electronic นี่เอง ที่ทำให้ยุค 60 ถูกเรียกว่า “Tronics Boom” เพราะหุ้นที่ถูกลิสต์ใหม่ ๆ นั้นมักจะใช้คำที่เกี่ยวกับ electronic แม้บริษัทเหล่านี้ หลาย ๆ บริษัท ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับอุตสาหกรรม electronic เลยสักนิด
(เหตุการณ์คุ้นๆ)
ผู้คนไหลเข้าตลาดอย่างบ้าคลั่ง เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของบริษัทนวัฒกรรมเหล่านั้น โดยไม่ได้สนด้วยซ้ำว่าบริษัทเหล่านั้นทำธุรกิจอะไร ขอเพียงฟังดูเกี่ยวข้องกับ electronic พวกเขาก็พร้อมจะลงทุน เช่น บริษัทขายแผ่นเสียงชื่อ “American Music Guild” เปลี่ยนชื่อเป็น “Space-Tone” และเข้า IPO หลังจากนั้นราคาก็พุ่งจาก $2 เป็น $14 ในไม่กี่สัปดาห์
ร้านคุกกี้ทำมือ “Mother’s Cookies” เปลี่ยนชื่อเป็น “Mothertron’s Cookitronics” เพื่อเข้าตลาด ราคาทะยานจาก $15 เป็น $23 ในวันแรกที่ซื้อขาย
นอกจากกระแสหุ้น Tronics แล้วยังมีแนวการลงทุนอีกแนวที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น “ลงทุนในบริษัทเล็ก ๆ ที่เรื่องราวสุดอลังการ” เนื่องจากนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยจำนวนมาก เห็นถึงความสามารถของหุ้นเติบโตที่สามารถขยายบริษัทได้รวดเร็ว กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้มหาศาล จึงพยายามซื้อดักล่วงหน้าไว้ กวาดซื้อหุ้นที่อาจจะขึ้นเป็นบริษัทผู้ชนะในอนาคต โดยไม่ได้สนใจเรื่องของงบการเงินหรือผลประกอบการอีกต่อไป เพราะหุ้นดีหรือไม่ ดูได้ผ่านราคา ขอเพียงราคาหุ้นขึ้นไปเรื่อย ๆ บริษัทมีเรื่องราวที่น่าสนใจ พวกเขาก็พร้อมจะซื้อ
นักลงทุนหวังว่าจะมีคนชอบในเรื่องราวเหล่านี้เหมือนพวกเขา และแห่กันมาซื้อต่อจากพวกเขาในราคาที่แพงกว่า
ซึ่งเรื่องนี้จบลงด้วยหลาย ๆ บริษัทมีการปรับแต่งบัญชี หลายบริษัทมีการพูดถึงผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองไว้เกินจริง บ้างก็ตั้งเป้าหมายไว้สูง ๆ เพื่อขายนักลงทุนเท่านั้น
ในยุคนั้นมีคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเอาผิดอะไรกับหุ้นเหล่านี้ได้ เพราะบริษัทเหล่านี้ได้มีการเขียนเตือนไว้ในหนังสือชี้ชวนเป็นที่เรียบร้อย เช่น “บริษัทไม่มีทรัพย์สินหรือกำไรใด ๆ เป็นหลักประกัน ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงมาก”
ซึ่งคำเตือนเหล่านี้ คงไม่ได้ต่างจากคำเตือนหน้าซองบุหรี่ที่ไม่สามารถหยุดคนให้สูบบุหรี่ได้ เช่นเดียวกับการไปบอกว่าการลงทุนครั้งนี้มีความเสี่ยงสูง ก็ไม่สามารถปิดกั้นผู้คนจำนวนมากจากความโลภ
กระแสหุ้น Tronics Booms และหุ้นเล็กที่เล่นใหญ่ได้รับความสนใจอยู่ได้ราว ๆ 4-5 ปี ก่อนที่จะจืดจางไป และแทบจะหายจากตลาดในยุค 70
ความเจ็บปวดที่สะสมมาตลอดยุค 60 ทำให้นักลงทุนหันมาใช้เหตุผลมากขึ้น ยุคทองการเก็งกำไร ซื้อหุ้นอย่างไร้เหตุผลได้ผ่านไป ได้เวลาซื้อหุ้นและออกไปตีกอลฟ์ชิล ๆ แทน ตลาดหันกลับมาให้ความสนใจซื้อหุ้นด้วยเหตุผลมากขึ้นอย่างหุ้น “Blue Chip”

เกร็ดความรู้

ที่มีของคำว่าหุ้น Blue Chip มาจากเกม Poker ซึ่ง Chip สีน้ำเงินจะมีมูลค่าสูงสุด เพราะคิดว่าอย่างน้อย บริษัทเหล่านี้จะไม่หายไปแน่ ๆ และต่อให้มันแพงเกินไปบ้าง เดี๋ยวสักพักบริษัทก็จะทำกำไรได้มากขึ้น จนราคาที่ซื้อแพงตอนนี้ สมเหตุสมผลเองในอนาคต
นักลงทุนสถาบันมองว่าการซื้อหุ้น Blue Chip นี่เองที่แก้ปัญหาในชีวิตพวกเขาได้ ความน่าเชื่อถือและการเติบโตที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว ทำให้พวกเขาไม่ต้องคอยตอบคำถามกับหัวหน้าหรือผู้ร่วมงาน ถึงเหตุผลในการตัดสินใจ นอกจากนี้การเข้าซื้อทีละมาก ๆ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาของหุ้นใหญ่ ทำให้เกิด trend การซื้อหุ้นครั้งเดียว ถือยาวตลอดชีวิตในช่วงนั้น (ช่วงนั้น ปู่ Buffett ดังแล้ว อาจจะมีเรื่องวิธีคิดของ Buffett มาเกี่ยวข้องด้วย)
เงินจำนวนมากไหลเข้าหุ้นกลุ่ม Nifty 50 ซึ่งรวม 50 หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาด New York ไว้ จนหุ้นกลุ่ม Nifty 50 ซื้อขายกันที่ P/E 50-90 เท่าเลยทีเดียว
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนถือยาวอยู่ได้ 3-4 ปี แล้วหนังเรื่องนี้ก็จบแบบเดิม จากนักลงทุนบางกลุ่มเริ่มเห็นโอกาสในการลงทุนอย่างอื่นที่ดูคุ้มค่ากว่า แล้วเริ่มลุกออกจากวง ก่อนจะมีคนกลุ่มอื่นลุกตามมาเรื่อย ๆ ทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่สภาพขาลงอีกครั้งเป็นเวลาเกือบ 10 ปี (1973-1982)
ก่อนจะกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่คนในยุค 60-70 วาดฝันไว้เริ่มทำได้จริง (ซึ่งจริง ๆ ก็มี ฟองสบู่ไบโอเทค เกิดขึ้นอีกในยุค 80 เรื่องก็เหมือนลอกฟองสบู่ Tronics มาเลยทีเดียว)
เรื่องฟองสบู่ทั้ง 2 ครั้ง กินระยะเวลารวมกันกว่า 20 ปี ในยุคที่เงินทั่วโลกไม่ได้ไหลไปมาได้อย่างอิสระ ขนาดตลาดไม่ได้ใหญ่ ผู้เล่นในตลาดไม่ได้เยอะเหมือนทุกวันนี้
ในขณะที่โลกโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน เงินสามารถไหลไปรวมกันได้อย่างรวดเร็ว ทั่วโลกสามารถรับรู้ข่าวสารได้ในระยะเวลาที่ต่างกันไม่ถึงหลักชั่วโมง และใคร ๆ ก็ต่างลงทุนกันทั้งนั้น (ล่าสุดเข้าร้านหนังสือพบว่า 9 ใน 10 Best Seller เป็นหนังสือลงทุน
เดินผ่านวินมอเตอร์ไซค์ที่กำลังคุยกับป้าขายหมูปิ้ง เรื่องเทคโนโลยี Blockchain ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลก คนรู้จักที่ซื้อหวยเดือนละเป็นหมื่น หันเข้ามาลงทุน)
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่ทรัพย์สินที่ได้รับความสนใจ จะสามารถทำกำไรได้มหาศาล จากหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วง ปี 60-70 เป็นหลักพัน หลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน
ไม่มีใครคาดเดาตอนจบของเรื่องได้อย่างถูกต้องทั้งหมด สิ่งที่ทำได้มีเพียงลงทุนด้วยความระมัดระวัง มองอดีตเป็นบทเรียน บริหารความเสี่ยงและเตรียมพร้อมกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่แน่ว่าในอนาคต เราทุกคนก็อาจเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด ให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้เรียนรู้อย่างบทความนี้เช่นกัน
ตอนที่ 2 ฟองสบู่มักจะเกิดขึ้นจาก 2 สิ่ง คือ เทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ และ โอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งทั้ง 2 สิ่งมาเจอกันในยุคการตื่นขึ้นของ Internet ติดตาม Dot-com bubble ได้ ในตอนต่อไป…
BottomLiner
TSF2024