Bond Yield สำคัญไฉน Yield Curve คืออะไร? ทำไมถึงต้องรู้จัก?

บทความนี้เราจะมารู้จักเรื่องของตลาดตราสารหนี้กันก่อน แต่จะให้เริ่มจากสูตรคำนวนอะไรเทือกนี้ คงจะไม่จำเป็นสำหรับนักลงทุนหุ้น เรามองไปที่ปลายทางเลย คือ Bond Yield เมื่อไหร่ขึ้นลง สัมพันธ์อย่างไร และส่งผลกับเศรษฐกิจ และค่าเงินอย่างไร

รู้หรือไม่? Asset Class ที่มูลค่าตลาดหรือเม็ดเงินสูงที่สุดนั้นไม่ใช่ตราสารทุน (หุ้น) แต่คือ ตราสารหนี้ (พันธบัตรหรือหุ้นกู้) เราเรียกกันกว้าง ๆ สวย ๆ ว่า Fixed-Income … แม้แต่เงินฝากธนาคาร ก็ดูเป็น Fixed-Income เพียงแค่ไม่อยู่ในรูปหลักทรัพย์เท่านั้นเอง โดยหลักของตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เหล่านี้ก็คือเราจะได้ผลตอบแทนตามหน้าตั๋วที่เขียนไว้ เม็ดเงินที่หมุนเวียนไปมาบนโลกนี้ ส่วนมากคือตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ทั้งนั้น

โดยปกติที่เราซื้อหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาลกัน เราก็จะได้เงินจำนวนหนึ่งกลับมาเสมอ และรอครบอายุค่อยได้เงินเต็มจำนวน แต่รู้หรือไม่ ว่าเราสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในตลาดรอง (หรือเดินไปธนาคารบอกว่าจะขาย แต่ต้องยอดเยอะ ๆ หน่อย และยอมรับราคา discount เยอะเหมือนกัน)

ใครที่ไม่รู้จัก ตราสารหนี้ (Fixed-Income หรือ Bond treasury แบบใดก็ตาม) ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ราคาจะแปรผกผันกับ Yield (อัตราผลตอบแทนพันธบัตร)

แน่นอนว่าพอเป็นหนี้ ก็ต้องมีกำหนดระยะเวลาในการคืนหนี้ ดังนั้นตราสารหนี้จึงมีอายุของตราสาร

หากเรานำพันธบัตรรัฐบาลมา Plot โดยให้แกน X (แนวนอน) คือ อายุคงเหลือของตราสารหนี้ (เรียงกันจากน้อยไปมาก) แกน Y (แนวตั้ง) คือ อัตราผลตอบแทน เราจะได้ “เส้นโค้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตร” หรือ “Yield Curve” ซึ่งก็คือ เส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน กับ อายุคงเหลือของตราสารหนี้

นี่แหละหนอ คือสิ่งที่นักวิเคราะห์บางคนจ้องกันประจำ

ซึ่งปกติแล้ว ตราสารหนี้ที่อายุสั้นกว่าจะมีอัตราผลตอบแทนน้อยกว่าตราสารหนี้ที่อายุยาวกว่า (เหมือนกับเราให้คนอื่นกู้นาน มันก็เสี่ยงกว่า เราก็ต้องได้ผลตอบแทนที่มากกว่าคนที่ให้กู้ไม่นาน)

แต่โลกนี้มันไม่ง่ายดาย มีโอกาสผิดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยน มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ทำให้ Yield curve นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

Bond Yield สำคัญไฉน Yield Curve คืออะไร? ทำไมถึงต้องรู้จัก?

หลัก ๆ เราจะเจอรูปแบบ Yield Curve อยู่ 3 รูปแบบ คือ

1. Normal curve : Yield ของพันธบัตรระยะสั้น น้อยกว่า Yield ของพันธบัตรระยะยาว ซึ่งพบเจอได้ในสถานการณ์ปกติ หรือช่วงเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

2. Inverted curve : Yield ของพันธบัตรระยะสั้น มากกว่า Yield ของพันธบัตรระยะยาว มักเกิดขึ้นในยามที่คนกังวลว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี หรือมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรวดเร็ว เพื่อประคับประคองเงินเฟ้อ หรือควบคุมอสังหาฯ ไม่ให้ฟองสบู่เกินไป

มนุษย์เราเชื่อว่า นี่เป็นสัญญาณ Recession ในอนาคตอันใกล้ 6-12 เดือนข้างหน้า โดยอิงจากข้อมูลสถิติ ซึ่งนาน ๆ ทีจะเกิดขึ้นสักครั้ง (แต่ใช้ไม่ได้กับทุกตลาดนะ)

3. Flat curve : Yield ของพันธบัตรระยะสั้น เท่ากับ Yield ของพันธบัตรระยะยาว เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มที่และเตรียมที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เส้น Yield curve จาก Normal yield curve ที่กำลังเปลี่ยนเป็น Inverted yield curve จะต้องเกิด Flat yield curve ขึ้นก่อน หรือในทางตรงกันข้าม จากวิกฤต ก่อนพลิกไปเป็น steep (normal แบบ กราฟชันมาก ๆ)

อาจฟังดูยาก ดูซับซ้อน แต่ก็แนะนำค่อย ๆ ศึกษาไปครับ สักพักจะจำ pattern ของมันได้เอง

ส่วนมีเทคนิคดูอย่างไร ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไหน กำลังสื่ออะไร แน่นอนว่าเรื่องที่ตลาดกังวล ว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ย ก็จะอยู่ในนั้นด้วย รออ่านได้ในตอนถัดไปครับ

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/4531217660226666

TSF2024