ในยามที่ Growth ลดลง และมรสุมทางการเมืองถาโถม นี่คือวิกฤต หรือโอกาส?? อยากให้อ่านก่อนครับ
หุ้น Alibaba ผมเรียกว่าหุ้นสิ้นคิด ในอดีตใครถามผม แนว ๆ กลัวเจ๊ง ผมจะตอบว่าซื้อ ๆ ไปเถอะไม่เจ๊งหรอกระยะยาว แต่หลังชวด IPO Ant ภาพค่อนข้างเปลี่ยน หากใครถาม ผมก็ตอบเหมือนเดิมว่าไม่เจ๊ง แต่ที่เพิ่มเติมคือ คุณจะทนดอยนานกว่าที่คิด เพราะธุรกิจหลัก Alibaba เข้าช่วง Growth หดพอดี
ล่าสุดเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะรัฐบาลจีนอนุมัติแผนปรับโครงสร้าง Ant Group ให้ปล่อยกู้ได้อีกครั้ง !
รู้หรือไม่ เจ้าพ่อ E-Commerce จีนตอนนี้เน้นขายปลีก !! Alibaba ผู้บุกเบิกตลาด E-Commerce ในจีน โดยเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นแบบ B2B Marketplace (เน้นขายส่ง) ผ่านเว็บไซต์ 1688.com และเมื่อหลายปีมาแล้วแจ็ค หม่า ได้นำพา Alibaba หันมาดันฝั่งธุรกิจค้าปลีก ผ่าน Tmall มากขึ้นจนกลายเป็นรายได้หลัก มาดูกันครับว่าจริง ๆ แล้วบริษัท ทำอะไรบ้าง
ธุรกิจ E – Commerce
Taobao ธุรกิจค้าปลีกแบบ C2C โดยให้ผู้ที่ต้องการขายสินค้ามาเปิดร้านออนไลน์และ Tmall ธุรกิจค้าปลีกแบบ B2C โดยให้ลูกค้าแบรนด์ดัง ๆ เข้ามาขายของในแพลตฟอร์ม แต่ก็ยังมีการขายแบบ B2B ผ่าน 1688.com อยู่ โดยธุรกิจทั้งหมดจะอยู่ในเมืองจีน
ธุรกิจนอกจีนจะอยู่ในชื่อ Alibaba.com (เป็น 1688.com เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ) ส่วนฝั่ง Retail ก็จะเป็นที่คุ้นเคยในไทยอย่าง AliExpress และ Lazada (บริษัทลูก)
แต่หากคุณกำลังคิดว่า E-Commerce ในจีนจะต้องเติบโตอย่างเบ่งบานแน่ ๆ คุณกำลังคิดผิด ที่จีนนั้นใช้ E-Commerce กันเกือบทั้งประเทศแล้ว หา New User Growth ได้ยาก Growth หลัก ๆ จึงมีเพียงซื้อแต่ละตะกร้ามากขึ้นเท่านั้น และขยายออกต่างประเทศเท่านั้น ทำให้คนไปคาดหวังกับธุรกิจถัด ๆ ไป
ธุรกิจ Cloud Computing
ฝั่งที่บริษัทดันอีกทางคือ Cloud Computing ในชื่อ Alibaba Cloud Intelligence เป็นผู้ให้บริการ Cloud สำหรับองค์กร และได้รับความนิยมในจีนอย่างสุด ๆ แต่ถ้านอกจีนยังเทียบพวก AWS, Azure หรือ CGP ไม่ได้
แต่การเติบโตต่างประเทศก็มาชะงักไปดื้อ ๆ หลังลูกค้าหลัก ByteDance เลิกใช้บริการ ส่วนรายได้จาก Cloud คาดว่าอีกสัก 2-3 ปีจึงเริ่มทุเลา Growth ของ E-Commerce ที่ตกลงไปได้
ธุรกิจสื่อ
YouKu แพลตฟอร์ม Streaming ที่เหมือนกับ Youtube และ Alimusic AliSports
South China Morning Post สำนักข่าวรายใหญ่ของจีน
UC Browser เว็บเบราวเซอร์ยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จทั้งในอินเดียและอินโดนีเซีย
แต่น่าเสียดาย โดนรัฐบาลกดดันอย่างหนักในเรื่อง โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ
ธุรกิจ Fintech
Ant Financial บุกตลาดการเงิน นำทีมโดย Alipay Application ชำระเงินออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมมากของคนจีน เราเห็นได้ตาม 7-11 และร้านค้ามากมายที่ต้อนรับคนจีน ประกอบกับคนจีนที่มี Spending Power อย่างมหาศาลทำให้การทำธุรกรรมผ่าน Alipay โตระเบิด
Alibaba ยังขยายธุรกิจเพิ่มเติมไปทำ ปล่อยกู้และประกัน และบริหารเงินทุน โดยในอดีต เราอาจเคยได้ยินเรื่อง Yu’e Bao กันไปบ้าง ที่ทำให้ Ant Financial โด่งดังเป็นที่รู้จัก เพราะใช้เวลา 6 เดือนกลายเป็น Money Market Fund ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา Jack Ma เกือบจะพา Ant Group เข้าตลาดและเป็นการทำ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้สำเร็จและเป็น S-Curve ใหม่ของ Alibaba แต่เเล้วความฝันก็พังทลาย…
เมื่อมรสุมถาโถม
รัฐบาลจีนได้สั่งเลื่อน IPO Ant Group อย่างไม่มีกำหนด
หลายคนมองว่าสาเหตุที่ทำให้ Ant Group โดนเบรคเกิดขึ้นจากการที่ Alibaba เลี่ยงกฎเพราะ Ant Group ดำเนินธุรกิจปล่อยกู้และขัดต่อกฎการเงินของประเทศ รวมถึงที่ Jack Ma ดันไปพูดว่ากฏเกณฑ์ธนาคารเดิม ๆ ไม่เหมาะกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยคำพูดนี้ทางการจีนมองว่าเป็นการท้าทาย
เรื่องนี้ทำให้กองทุนรายใหญ่หลายรายอย่างเช่น Point 72, Moore Capital Third Point เทขายหุ้น Alibaba จำนวนมากในไตรมาส 4 ปี 2020
หลังจากนั้นก็โดนรัฐบาลเล่นงานในหลาย ๆ เรื่อง เช่นทุนสำรอง และบังคับให้ถือ License ด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างแน่นอน และทำให้ตลาดปรับลด Valuation Ant Financial ลงกันกว่าครึ่ง หลาย ๆ แห่งลดจาก $250-350bn เหลือต่ำกว่า $150bn
หลังจากนั้น Alibaba ก็โดนเล่นงานเรื่อยมา
เช่นคำสั่งลบ “UC Browser” ออกจากมือถือหลายค่ายในจีน และสำนักข่าวรายใหญ่อย่าง “South China Morning Post” ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Alibaba กำลังถูกบังคับให้ขายทิ้ง
ตอกย้ำเข้าไปเพิ่มหลัง Alibaba โดนรัฐบาลจีนสั่งปรับเงินอีก 1.82 ล้านหยวน (ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท) ในข้อหาเรื่องการผูกขาด (ถึงตรงนี้ เกมเปลี่ยน เพราะมันดูแล้วเบา ๆ เท่านั้นเอง)
โดนเหตุการณ์เหล่านี้เกิดในระยะเวลาเพียงครึ่งปีจากที่ Jack Ma ได้ไปพูดถึงรัฐบาลแบบนั้นทำให้ธุรกิจในเครือของเขาถูกจัดการเกือบทั้งหมด
ในยามที่ Growth ลดลง และมรสุมทางการเมืองถาโถม นี่คือวิกฤต หรือโอกาส?? ก็ต้องถามตัวเองอีกครั้งว่าเป็นจุดพีคของ Sentiment หรือยัง และ Growth จะกระเตื้อง Surprise ให้เราหรือไม่ นี่ก็ผ่านมาสัก 6 เดือนได้แล้ว ของพวกนี้โดยปกติกินเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ส่งผลต่อการ De-Rating ลงมาที่ราคานี้ จนกว่าจะมี S-Curve ใหม่ ๆ หรือ Fund Flow ไหลเข้าจีนกันอีกครั้ง
แน่นอนเราไม่เชียร์ซื้อขายและประเมินมูลค่าให้ทุกท่านฟังเพราะผิดกฎหมาย เราทำได้เพียงให้ข้อมูลเท่านี้ครับ แนะนำเพียงว่า ดู Time Frame และจุด Cut Loss ที่เราจะถือให้ดีครับก่อนเข้าซื้อ
และเหมือนข่าวจะรู้ว่าใกล้ครบกำหนด 6 เดือนที่ราคาหุ้น Alibaba ถล่มมาตลอด
ล่าสุดรัฐบาลจีนอนุมัติให้ Ant เปลี่ยนเป็นบริษัทการเงินแทนการเป็นบริษัทเทคโนโลยี และสามารถทำธุรกิจปล่อยกู้ได้เหมือนเดิมแต่จะต้องถูกคุมด้วยกฎของธนาคารกลางจีน
ความน่าสนใจของกรณีนี้คือ Ant ยังสามารถอยู่ในฐานะผู้แนะนำลูกค้า (คนอยากกู้) ให้กับธนาคารได้ ซึ่งรูปแบบการทำงานจะคล้ายกับธุรกิจเดิม แต่ให้ธนาคารเป็นผู้ปล่อยกู้ทั้งหมดเท่านั้น และ Ant จะได้ค่า Fee จากการแนะนำลูกค่า
หลังปรับโครงสร้าง จะเกิดบริษัทชื่อ “Chongqing Ant Consumer Finance” โดย Ant จะถือหุ้น 50%, ธนาคารรัฐวิสาหกิจจีนถือ 20% CATL ถือ 8% และ บริษัทลูก ๆ ของ Alibaba จะถือในส่วนที่เหลือ
Ant Group เป็นธุรกิจนายหน้าของกองทุนเบอร์ 1 ของจีนไปแล้วในเวลานี้ ถือว่าเป็นปัจจัยบวกให้กับ Alibaba ในระดับหนึ่ง หลังจากฝ่ามรสุมมานาน ในที่สุดแสงสว่างก็เริ่มมาแล้ว
BottomLiner
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/4600586433289788
อ่านบทความชุด ATMX ยักษ์จีนท้าชนสหรัฐ ตอนก่อนหน้า
ATMX ยักษ์จีนท้าชนสหรัฐ EP1: Meituan รายได้ยังโตแรง CEO บอกปัญหารัฐบาลเคลียร์กันได้ ไม่มีปัญหา