สวัสดีครับ LIVE วันนี้ FINNOMENA เชิญ Dr. Andrew Stotz มาพูดคุยกันในหัวข้อกลยุทธ์การลงทุนแบบ Passive Investing ซึ่งคุณ Andrew เป็นผู้ออกแบบแผนการลงทุน All Weather Strategy (AWS) ให้กับ FINNOMENA โดยมีนักลงทุนมากมายที่ลงทุนในแผนนี้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาพอร์ตของคุณ Andrew ก็ทำผลงานได้ดี ถึงแม้จะเจอวิกฤตครั้งใหญ่มาก็ถือว่ามี downside ไม่มากเมื่อเทียบกับตลาด ถือว่าทำตามคอนเซ็ปต์ Catch up Growth and Protect Downside ของพอร์ตได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาใน LIVE วันนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจซึ่งเราจะตามไปสรุปกัน ทั้งเรื่องงานวิจัยเปรียบเทียบ Performance ของ Passive Fund กับ Acitive Fund ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจ มุมมองตลาดช่วงนี้ และเรื่องราวการลงทุนของหลานแท้ๆ ของคุณ Andrew เนื่องจากเวลาที่จำกัดทำให้ LIVE อาจจะครอบคลุมเนื้อหาได้ไม่ทั้งหมด สามารถดาวน์โหลดสไลด์เต็มๆ ได้ที่ลิงก์ finno.me/passive

แผน All Weather Strategy ลงทุนด้วย Passive Fund เป็นหลัก

ใครที่เคยติดตามแผน AWS ของคุณ Andrew จะสังเกตว่า แทนที่จะเป็น Active Fund แต่กองทุนในพอร์ตกลับเป็น Passive Fund อยู่เยอะมาก คุณ Andrew เล่าให้ฟังว่าย้อนกลับไปตอนที่ออกแบบกลยุทธ์การลงทุนนี้ มีเป้าหมายคือ “ต้องการสร้างแผนการลงทุนให้คนหนุ่มสาว เพื่อให้ลงทุนในระยะยาวได้โดยไม่ต้องซื้อขายบ่อยๆ” เพราะฉะนั้น Passive Fund จึงเป็นคำตอบในการเริ่มต้นออกแบบพอร์ตนี้ โดยพอร์ตของคุณ Andrew จะไม่ได้มีการปรับพอร์ตบ่อย จะมีการรีวิวพอร์ตทุกๆ 3 เดือน ในระหว่างนั้นก็จะปล่อยให้กลยุทธ์การลงทุนได้ทำหน้าที่ของมัน

Passive กับ Active ต่างกันยังไง

เป้าหมายหลักของ Active Fund คือ การเอาชนะตลาด โดยคาดหวังให้ผู้จัดการกองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาด

เป้าหมายหลักของ Passive Fund คือ การโตไปกับตลาด สร้างผลตอบแทนให้เท่ากับตลาดไปเรื่อยๆ โดยการลงทุนตามดัชนี

ทางเลือกที่ดีที่สุดในอุดมคติ คือ การที่เราเอาเงินไปลงทุนในกอง Active ที่เอาชนะตลาดได้ แต่ปัญหาก็คือ มันยากมากที่ผู้จัดการกองทุนจะสามารถเอาชนะตลาดได้ตลอด เพราะตลาดหุ้นมีความซับซ้อนมาก ถ้าเกิดเลือกผิด ไปลงทุนในกองที่ผู้จัดการกองทุนทำผิดพลาด ก็จะกลายเป็นได้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดไป ก่อนจะไปตอบคำถามว่าเราควรจะเลือก Passive Fund หรือ Active Fund ดี ไปดูผลลัพธ์ของงานวิจัยที่คุณ Andrew ทำมากันก่อนครับ

Research บอกว่า Active Fund ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของแท้

คุณ Andrew ทำงานวิจัยมางานหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อตอบคำถามว่า Active Fund ในไทย มัน Active จริงหรือเปล่า ถ้าเกิดมัน Active จริงๆ ผลตอบแทนไม่ควรจะสอดคล้องไปตามดัชนีของตลาดหุ้น

แต่จากผลลัพธ์ของงานวิจัยกองทุนไทย 277 กอง ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่า กองทุน Active Fund กว่า 85% มี Correlation ที่สูงมากกับ SET Index แสดงว่า Active Fund เหล่านี้ทำผลตอบแทนไหลไปตาม SET Index ไม่ได้ Outperform อะไรเลย

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นคุณ Andrew ให้เหตุผลไว้ 2 ข้อ เหตุผลข้อแรก เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็ก ทำให้ตัวเลือกในการลงทุนน้อย พอผู้จัดการกองทุนจะลงทุนอะไรก็เลยตกไปอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่อยู่ใน SET Index อยู่แล้ว สุดท้ายก็ซ้ำกัน เหตุผลข้อสอง คือ ความกลัวของผู้จัดการกองทุน ว่าจะถูกต่อว่าถ้าเผลอทำผลตอบแทนแย่กว่าตลาด สุดท้ายก็ไม่กล้าเสี่ยง เลยทำผลตอบแทนได้แค่ล้อไปตามตลาด

ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ค่า Fee ของ Active Fund แพงกว่า Passive Fund ถ้าเกิดเราเสียค่า Fee เพื่อไปลงทุนใน Active Fund แล้วยังทำผลตอบแทนได้ไม่ต่างไปจาก Passive Fund มันก็ไม่คุ้มที่จะไปลงทุน อย่างไรก็ตาม Active Fund ที่ดีในไทยก็ยังมีอยู่ งานวิจัยชิ้นนี้เพียงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนมากไม่สามารถชนะตลาดได้ และเตือนว่าเราอาจจะไม่ควรไปเสียค่า Fee ที่แพงจากตรงนั้น

อัปเดตตลาดในมุมมองของคุณ Andrew Stotz

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ช่วงนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นมาเยอะ เนื่องจากเกิดการ Outperform ของหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของตลาด และเนื่องจากตลาดมีสภาพคล่องสูง มีคนรอซื้อเยอะ ราคาร่วงมาก็มีคนซื้อ ตลาดจึงพยุงขึ้นไปได้

แต่สาเหตุที่พอร์ต AWS มีการลดสัดส่วนของหุ้นสหรัฐฯ ลง เป็นเพราะว่าตอนนี้รัฐบาลซื้อทุกอย่างเพื่อช่วยตลาด ไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะดีหรือแย่ก็ซื้อหมด ประกอบกับอัตราว่างที่เพิ่มขึ้น และกำลังซื้อที่กำลังจะลดลง และจากสถิติในอดีต เมื่อเกิดวิกฤต ตลาดใช้เวลาประมาณ 500 วันในการลงจากจุดสูงสุดไปจุดต่ำสุด ถ้าเป็นไปตามนี้จุดต่ำสุดจะอยู่ที่เดือนกรกฎาคม ปี 2564 ซึ่งแสดงว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงกึ่งกลางของวิกฤตเท่านั้นเอง การขึ้นครั้งนี้จึงอาจจะเป็นแค่ short term rally และอาจจะตกลงมาในอนาคต ภาพรวมของตลาดสหรัฐฯ ตอนนี้ยังถือว่าไม่ยั่งยืน ซึ่งขัดกับแนวความคิดเริ่มต้นของพอร์ตที่มองหาการเติบโตระยะยาว พอร์ตจึงลดสัดส่วนการลงทุนตรงนี้ไปก่อน

สำหรับคนที่บอกว่า พลาดแล้วที่ไม่ลงหุ้นสหรัฐฯ ในตอนนี้ มันขึ้นไปแล้ว คุณ Andrew อยากให้นึกภาพการลงทุนเป็นการวิ่งมาราธอน เป็นการลงทุนโดยใช้มุมมองระยะยาว ไม่ใช่การเอาชนะตลาดในการวิ่งระยะสั้น การมองภาพที่ปลายสุดว่าสุดท้ายแล้วการลงทุนแบบไหนที่จะเอาชนะในการวิ่งมาราธอนในระยะยาวได้ นี่คือเกมที่คุณ Andrew พยายามจะเล่น

ทองคำ

จากมุมมองของคุณ Andrew ราคาทองที่ขึ้นตอนนี้เกิดจากการที่คนตื่นตระหนกจากการพิมพ์ธนบัตร อย่างไรก็ตามทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง จึงไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ราคาทองร่วงรุนแรง

ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ราคาทองตกลงมา เป็นเพราะว่าคนอยากได้เงินสดมาบริหารสภาพคล่อง จึง liquidate ทองคำที่มีออกมา จึงเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คุ้นเคยที่ราคาทองลงมาพร้อมกับตลาด จากที่ปกติจะไปคนละด้านกัน

คุณ Andrew เสริมว่า การที่พอร์ต AWS ลงทุนในทองไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไรว่ามันจะสร้างผลตอบแทนได้สุดยอด แต่มีไว้เพื่อปกป้องมูลค่าของพอร์ต (protect downside) ทำให้เวลาตลาดแย่พอร์ตไม่ได้ติดลบลงไปมาก

เรื่องราวการลงทุนของหลานๆ

คุณ Andrew มีหลานอยู่ 5 คน และเคยให้เงินหลานคนละ 3,000 ดอลลาร์เพื่อใช้สำหรับสร้าง Wealth ให้ตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไปเงินในบัญชีของหลานๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นคนหนึ่งที่เงินในบัญชีเพิ่มขึ้นกลายเป็น 2 เท่า ทั้งๆ ที่หลานคนนี้เป็นคนที่สนใจเรื่องการเงินน้อยที่สุด เมื่อคุณ Andrew ไปถามก็ได้คำตอบว่า หลานคนนี้เพียงแค่ลงทุนทุกๆ เดือนตามที่คุณ Andrew บอกเท่านั้นเอง นักลงทุนส่วนใหญ่โฟกัสผิดจุด ไปโฟกัสที่ตัวแปรที่ไม่ได้มีความสำคัญ ทั้งๆ ที่ตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จในการลงทุนก็คือ “เวลา” นั่นเอง จึงเป็นที่มีของพอร์ต AWS ที่ใช้หลักการ Long Term Investment Strategy in Passive Fund นั่นเอง

ตอนที่ตั้งใจสอนหลานเรื่องการเงิน คุณ Andrew เขียนหนังสือกับทำคอร์สออนไลน์ไว้ด้วย ซึ่งเป็นคอร์สยาว 4 ชั่วโมง ชื่อ How to Start Building Your Wealth Investing in the Stock Market เป็น 4 ชั่วโมงที่คุณ Andrew บอกว่าตัดอะไรออกไม่ได้แล้ว ท่านใดที่สนใจคอร์สนี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่ bit.ly/finnomenaBYW และใช้โค้ดส่วนลดที่อยู่ท้ายสไลด์ที่แจกในลิงก์ finno.me/passive ได้เลยครับ

ส่งท้าย: What is the Right Mindset for Investors to get over Crisis

คุณ Andrew บอกว่าวิกฤตนี้ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดีให้กับทุกคน Mindset ที่ควรมีข้อแรก คือ เราควรเก็บออมเงินมากขึ้น ไม่ควรไปตามวัตถุนิยม คนไทยใช้จ่ายผ่าน Credit ค่อนข้างเยอะ จุดนี้เป็นจุดที่ต้องระวัง ข้อที่สอง คือ This too shall pass วิกฤตนี้ซักวันก็ต้องจบ คำถามคือ เราแข็งแรงขึ้น เร็วขึ้น ฉลาดขึ้นหรือเปล่า เพลาความกังวลเรื่องวิกฤต แล้วกลับมาคิดเรื่องที่เราจะ Comeback Stronger ได้อย่างไรดีกว่า

เขียนโดย TUM SUPHAKORN