เกริ่นเบาๆ
บทความนี้เป็นการแนะนำเครื่องมือสาย Technical ตัวหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ชื่อว่า Heikin-Ashi หรือ Heiken-Ashi บางคนนับว่ามันเป็นรูปแบบกราฟชนิดหนึ่ง เหมือนกับพวกกราฟเส้นหรือกราฟแท่งเทียน แต่บางคนก็ไม่นับว่ามันเป็นกราฟ เพราะไม่ได้มีการแสดงราคาที่แท้จริง และนับเป็นอินดิเคเตอร์ตัวหนึ่งแทน
ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม Heikin-Ashi ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเราในการลงทุน ทำให้เราอยู่ในเทรนด์เพื่อทำกำไรได้นานกว่าเดิม บทความนี้จึงอยากจะแนะนำเครื่องมือตัวนี้ เพื่อให้นักลงทุนรู้จักและสามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนด้วยตนเองได้ครับ
รู้จักกับ Heikin-Ashi
Heikin-Ashi (ไฮ-เค็น-อะ-ชิ) มาจากภาษาญี่ปุ่น แปลรวมกันว่า ‘average bar’ หรือ ‘แท่งเทียนเฉลี่ย’ หน้าตาของ Heikin-Ashi ก็จะเป็นประมาณนี้
“อ้าว! เอากราฟแท่งเทียนเปล่าๆ เอามาให้ดูทำไม” อันนี้ไม่ใช่กราฟแท่งเทียนธรรมดาครับ แต่เป็นกราฟที่ถูกปรับด้วยสูตรคำนวณของ Heikin-Ashi เรียบร้อยแล้ว (ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปดูสูตรคำนวณกัน) ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับกราฟแท่งเทียนแบบปกติก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
สิ่งที่ Heikin-Ashi เข้ามาช่วยเราก็คือ การทำให้กราฟ ‘Smooth’ ขึ้นครับ คำว่า Smooth ในที่นี้คือการตัดทอน Noise ที่เป็นความผันผวนระยะสั้นต่างๆ โดยการนำราคา open-high-low-close ของแท่งเทียนแบบปกติมาคำนวณใหม่แล้วพล็อตบนกราฟใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้คือกราฟที่ดูง่ายขึ้น
ข้อดีของการ Simplify กราฟแบบนี้ ข้อแรกคือเราเห็นเทรนด์ชัดเจนขึ้น Heikin-Ashi ไม่สนใจการขึ้นลงเล็กๆ ระหว่างวัน หรือแท่งเทียนไม่กี่แท่งที่ขึ้นสวนทางเทรนด์หลัก มันจะเปลี่ยนให้กลายเป็นแท่งสีเขียวไม่ก็สีแดงเหมือนกันหมดเลย ซึ่งก็โยงไปเกี่ยวข้องกับข้อดีข้อที่สอง คือ ทำให้เราอยู่ในเทรนด์ได้นานขึ้นและไม่รีบขายเร็วเกินไป
ถ้าอ้างอิงจากจิตวิทยาการลงทุน ระหว่างที่เราลงทุนจะมีความกลัวหลายแบบเกิดขึ้นในจิตใจเรา ทั้งกลัวเสียเงิน กลัวตกรถ และอีกความกลัวที่สำคัญก็คือ กลัวเสียเงินที่เกือบจะได้มาแล้ว ภาษาอังกฤษเรียกเป็นสำนวนว่า ‘leaving money on the table’ ความกลัวนี้แหละที่ทำให้นักลงทุนขายหมูมานักต่อนัก พอเราเริ่มเห็นกำไร เราก็จะเริ่มอยากปิดออเดอร์แล้วเก็บเงินออกมา เพราะเรากลัวว่าจะเสียกำไรส่วนนั้นไป สุดท้ายพอปิดไปก็ต้องทนเจ็บใจเห็นกราฟพุ่งไปต่อ เป็นเรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในตลาด
Heikin-Ashi จะช่วยกำจัด Noise ที่ทำให้จิตใจเราหวั่นไหวออกไป เห็นเทรนด์ได้ชัดขึ้น อยู่ในเทรนด์นานขึ้น ทำกำไรได้มากขึ้น มีคำพูดนึงของ George Soros ที่ผมชอบและคิดว่าน่าจะเตือนใจนักลงทุนในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการขายหมูได้ดี
ความสำเร็จในการลงทุนมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทายถูกมากกว่าทายผิด แต่อยู่ที่เวลาที่คุณทายถูกคุณทำเงินได้มากกว่าเงินที่เสียตอนทายผิดเท่าไร สรุปคือ เวลาที่ลงทุนถูกทาง เราควรจะอยู่ในเทรนด์เพื่อทำกำไรให้นานที่สุด เวลาที่ผิดทาง เราก็ควรออกมาให้ไวตามแผนที่เราวางไว้เพื่อตัดขาดทุนให้น้อยที่สุด
สูตรคำนวณ Heikin-Ashi
กว่าที่กราฟจะออกมา Smooth ได้ กราฟแท่งเทียนแบบเดิมต้องถูกคำนวณใหม่ ก่อนอื่นไปรู้จักส่วนประกอบของกราฟแท่งเทียนกันก่อน
แท่งเทียน 1 แท่งเท่ากับ 1 Timeframe ที่เราเลือก เช่น ถ้าเราเลือกกราฟ Day แท่งเทียน 1 แท่งจะหมายถึงราคาที่ขึ้นลงในระยะเวลา 1 วัน จุดสำคัญของกราฟแท่งเทียนมีอยู่ 5 จุด คือ ราคาเปิด (open), ราคาสูงสุด (high), ราคาต่ำสุด (low), ราคาปิด (close) และแท่งนั้นเป็นแท่งเขียว (close > open) หรือแท่งแดง (close < open)
Heikin-Ashi จะเอาราคา open-high-low-close ของแท่งเทียนแบบปกติมาคำนวณใหม่แล้วค่อยพล็อตลงไปบนกราฟ สูตรคำนวณจะเป็นไปตามสูตรด้านล่างเรียงตามลำดับ ตัวห้อย 0 หมายถึงราคาจากแท่งเทียนปกติ ตัวห้อย HA หมายถึงราคาจากแท่งเทียน Heikin-Ashi
CloseHA = ¼ (Open0 + High0 + Low0 + Close0)
OpenHA = ½ (OpenHA แท่งก่อนหน้า + CloseHA แท่งก่อนหน้า)
HighHA = ค่าสูงสุดของ [High0, OpenHA, CloseHA]
LowHA = ค่าต่ำสุดของ [Low0, OpenHA, CloseHA]
จากสูตร เราจะได้อัตลักษณ์ของแท่งเทียน Heikin-Ashi ที่ไม่เหมือนกับแท่งเทียนทั่วไป ได้แก่
- ราคาเปิดจะเปิดที่กึ่งกลางแท่งก่อนหน้า
- ราคาปิดจะคิดเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งแท่ง
- ถ้า OpenHA เท่ากับ LowHA แท่งเทียน Heikin-Ashi จะไม่มีหางด้านล่าง ซึ่งหมายถึงเทรนด์เป็นขาขึ้นแข็งแรง
- เช่นเดียวกัน ถ้า OpenHA เท่ากับ HighHA แท่งเทียน Heikin-Ashi จะไม่มีหางด้านบน หมายถึงเทรนด์เป็นขาลงแข็งแรง
- ถ้าเนื้อเทียนแท่งเล็กและหางด้านบนกับหางด้านล่างยาวพอๆ กัน แสดงว่าราคาไม่วิ่งไปไหน
ตัวอย่างกราฟจริง
ลองมาดูตัวอย่างกันบ้างครับ ว่า Heikin-Ashi ช่วยทำให้กราฟ Smooth ขึ้นยังไงบ้าง และช่วยลด Noise หรือ False Signal ยังไงบ้าง
ตัวอย่าง 1
ตัวอย่างแรกยกกราฟของ S&P 500 มาดูกัน กราฟดัชนีปกติจะซื้อขายเป็นเวลา เลยมีการเปิด Gap ในช่วงรอยต่อระหว่างวัน คนที่ไม่คุ้นเคยกับ Gap อาจจะดูยาก พอเปลี่ยนไปใช้กราฟแท่งเทียน Heikin-Ashi จะช่วยให้กราฟต่อเนื่องขึ้น เห็นเทรนด์ได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่าง 2
กราฟค่าเงินยูโรกับดอลลาร์ (EURUSD) ตลาด FOREX เปิด 24 ชั่วโมงตลอดจันทร์ถึงศุกร์ เลยไม่มี Gap ระหว่างวันเหมือนตลาดหุ้น แต่ตลาด FOREX ก็มีความผันผวนสูงราคาขึ้นลงตลอดเวลา อาจจะเกิดสัญญาณหลอกให้เข้าใจผิดได้ Heikin-Ashi จะช่วยเราตีความการขึ้นหรือลงที่สวนเทรนด์ว่าเป็นการกลับเทรนด์จริงๆ หรือไม่ หรือเรายังอยู่ในเทรนด์อยู่
ตัวอย่าง 3
ปกติกราฟกองทุนเราจะดูเป็นกราฟเส้น แต่จริงๆ กราฟกองทุนก็ใช้ประโยชน์จาก Heikin-Ashi ได้เหมือนกัน รูปนี้เอามาจากหน้า finnomena.com/fund/ เป็นข้อมูลของกอง K-USA-A(A) แท่งสีเขียวที่วางตัวติดต่อกันจะหมายถึงเทรนด์ขาขึ้นที่แข็งแรง ตรงกันข้าม แท่งสีแดงก็จะหมายถึงขาลงที่แข็งแรง ข้อแตกต่างคือ Heikin-Ashi ของกองทุนจะไม่มีหาง (ไม่มี High/Low) เพราะราคากองทุนจะรายงานแค่ครั้งเดียวต่อวัน ก็เลยมีแค่ราคาของเมื่อวานกับราคาของวันนี้ให้คำนวณ
วิธีเอาไปใช้
Heikin-Ashi เอาไปใช้ลงทุนได้หลากหลาย อะไรที่มีกราฟก็สามารถประยุกต์เอาไปใช้ได้ เช่น หุ้น กองทุน ทองคำ ค่าเงิน ปกติแพลตฟอร์มลงทุนก็จะมีเครื่องมือตัวนี้ฝังมาอยู่แล้ว สามารถเลือกใช้ได้ อย่างเว็บ TradingView เวลาเลือกดูกราฟเทคนิคอลก็ตั้ง Heikin-Ashi ไว้เป็นโหมด Default เลย สำหรับหลักการเอาเครื่องมือตัวนี้ไปใช้งานสรุปได้ 3 ข้อหลักๆ
- แท่งสีเขียวต่อเนื่อง หมายถึงกราฟกำลังเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะแท่งสีเขียวต่อเนื่องที่ไม่มีหางด้านล่าง จะหมายถึงกราฟกำลังอยู่ใน Strong Uptrend สถานะซื้อหรือ Long (เก็งกำไรขาขึ้น) ควรถือต่อ
- แท่งสีแดงต่อเนื่อง หมายถึงกราฟกำลังเป็นขาลง โดยเฉพาะแท่งสีแดงต่อเนื่องที่ไม่มีหางด้านบน จะหมายถึงกราฟกำลังอยู่ใน Strong Downtrend สถานะขายหรือ Short (เก็งกำไรขาลง) ควรถือต่อ
- แท่งที่มีเนื้อเทียนสั้นและมีหางทั้งด้านบนและด้านล่าง หมายถึงกราฟไม่ได้เลือกทิศทาง ควรรอให้เกิดสัญญาณยืนยันก่อน จึงค่อยตัดสินใจซื้อหรือขาย
ข้อควรระวัง
เนื่องจาก Heikin-Ashi มีการดัดแปลงราคาปิดเปิดที่เกิดขึ้นจริงๆ นักลงทุนต้องตระหนักเสมอว่า Heikin-Ashi ไม่ได้โชว์ Gap ที่เกิดขึ้น ไม่ได้โชว์จุดที่ราคาเปิดและปิดจริงๆ เป็นแค่ราคาเฉลี่ยเท่านั้น
Heikin-Ashi เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เช่น ลงทุนในกองทุน เพราะสามารถระบุเทรนด์ที่เกิดขึ้นได้ดี แต่กราฟอยู่ในสภาวะ Sideway สัญญาณแท่งเขียวแดงก็จะใช้ได้ไม่ดี
และสำคัญมากๆ ขีดเส้นใต้หลายๆ เส้น เครื่องมือการลงทุนทุกอย่างไม่สามารถการันตีทิศทางของตลาดได้ เป็นแค่สิ่งที่ช่วยประกอบการตัดสินใจเท่านั้น นักลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยงและมีแผนรองรับผลที่ตามมาด้วยเสมอ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
เขียนโดย TUM SUPHAKORN
References:
https://www.investopedia.com/terms/h/heikinashi.asp
https://www.investopedia.com/trading/heikin-ashi-better-candlestick/
https://www.cmcmarkets.com/en/trading-guides/what-are-candlestick-charts