คนที่สนใจการลงทุนคงไม่มีไม่รู้จักกราฟ เชื่อว่าทุกคนต้องผ่านกราฟอะไรซักอย่างมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่กราฟแต่ละอย่างมันเหมือนกันหรือเปล่า อินดิเคเตอร์ต่างๆ การตีกราฟต่างๆ สามารถใช้กับทุกกราฟได้เหมือนกันมั้ย บทความนี้จะมาตอบข้อสงสัยกันให้แจ่มแจ้งครับ
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเป็นกราฟใกล้ตัวคือ กราฟกองทุน กับ กราฟหุ้น ส่วนพวกกราฟ Index, Commodities, Forex, ETF ขอยังไม่พูดถึงนะครับ
ความแตกต่างระหว่างราคากองทุนกับราคาหุ้น
ก่อนจะไปถึงคำตอบว่าตีกราฟได้หรือไม่ได้ ขอเล่าเรื่องความแตกต่างของราคาที่ปรากฏบนกราฟกองทุนและกราฟหุ้นก่อน ส่วนถ้าใครอยากได้คำตอบไวๆ ว่าตีกราฟได้ไม่ได้ ไถไปอ่านด้านล่างก่อนได้เลยครับ
ราคากองทุน
ราคากองทุนอย่างที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว จะบอกเป็นหน่วยของ NAV ซึ่งจุดประสงค์ของราคา NAV มีไว้สำหรับตีมูลค่ากองทุนเพื่อให้ง่ายต่อการซื้อขาย สำหรับการคำนวณ NAV คำนวณได้จาก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ส่วนด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด หรือดูจากสูตรด้านล่างนี้ครับ
ข้อสังเกตก็คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เป็นตัวใช้คำนวณค่า NAV เนี่ย มันรวมหลายสิ่งหลายอย่างเข้าไปในนั้น ทั้งการลงทุนที่กองทุนนั้นๆ เอาไปลง เงินสดที่ถืออยู่ในมือ แล้วก็หักลบออกจากหนี้ระยะสั้น หนี้ระยาว อะไรอีกมากมาย แล้วถึงค่อยคำนวณออกมาเป็น NAV ตอนสิ้นวันให้เราได้เห็นกัน (ซึ่งตัวเลขเหล่านี้แต่ละกองทุนก็จะไม่เหมือนกัน เพราะลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน)
มันก็ฟังดูสมเหตุสมผลว่า ถ้า NAV สูงขึ้น แสดงว่าการลงทุนที่กองทุนนั้นเอาไปลงมันเติบโตขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราวิเคราะห์แบบนั้นไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกว่าในกองทุนมันเป็นส่วนผสมหลายอย่าง เราไม่รู้ว่าอะไรในกองทุนกันแน่ที่ทำให้กองทุนเติบโตขึ้น แถมกองทุนไม่ได้ลงทุนครั้งเดียวแล้วจบเลย กองทุนจะมีผู้บริหารกองทุนที่คอยทำ asset allocation อยู่ตลอดตามที่บอกไว้ในนโยบายการลงทุน เพราะฉะนั้นในจุดนี้ ราคา NAV อาจจะไม่ได้สะท้อนการเติบโตของการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่มันรวมฝีมือของผู้บริหารกองทุนเข้าไปในราคา NAV ด้วย
ดังนั้น การที่เราจะไปตีกราฟแนวโน้มราคากองทุน ใส่อินดิเคเตอร์บอกปริมาณการซื้อขาย อาจจะไม่เหมาะ เพราะข้างในกองทุนมันไม่ได้มีสินทรัพย์ชนิดเดียวที่บ่งบอกแนวโน้มได้ชัดเจน แต่ละสินทรัพย์อาจจะเติบโตสวนกันก็ได้ แถมผู้จัดการยังค่อยปรับเปลี่ยนการลงทุนตามสถานการณ์อีก ไส้ข้างในกองทุนเปลี่ยนตลอด ยิ่งทำให้การตีกราฟราคา NAV บอกอะไรเราแทบไม่ได้เลย
ราคาหุ้น
สำหรับราคาหุ้นจะแตกต่างจากราคากองทุนค่อนข้างมาก ข้อแรกที่เห็นชัดที่สุด คือ จำนวนหุ้นมีจำกัด ในขณะที่จำนวนหน่วยลงทุนกองทุนมีได้ไม่จำกัด การที่จำนวนหุ้นที่ซื้อขายกันมีจำกัด ทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นอยู่กับ demand-supply ของตลาดเป็นส่วนใหญ่ การที่ราคาหุ้นแพงเป็นเพราะคนต้องการซื้อเยอะ ทั้งๆ ที่หุ้นตัวนั้นอาจจะไม่มีค่าอะไรเลยก็ได้
อีกข้อแตกต่างระหว่างกองทุนกับหุ้นคือ หุ้นสะท้อนราคาของสินทรัพย์เดียว ทำให้สามารถดูแนวโน้มการเติบโต แนวโน้มการชะลอตัว จากกราฟราคาหุ้นได้เลย ซึ่งจะแตกต่างกับราคา NAV ของกองทุนที่เป็นส่วนผสมของหลายๆ อย่างรวมกันอยู่ในนั้น
เกร็ดเพิ่มเติม
คำถาม: ถ้าคนแห่มาซื้อกองทุนกองหนึ่ง ราคากองทุนนั้นจะดีดตัวขึ้นเหมือนหุ้นได้มั้ย?
คำตอบ: ไม่ การซื้อเยอะๆ ไม่ได้มีผลทำให้ราคาของกองทุนนั้นสูงขึ้น ถ้าสังเกตจากสูตรคำนวณ NAV การซื้อกองทุนก็เหมือนกับการเพิ่มเงินสดเข้าไปในกองทุน (เพิ่มตัวเศษ) และเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุน (เพิ่มตัวส่วน) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสุดท้ายจะหักลบกันเองทำให้ราคา NAV เท่าเดิม
หรือลองคำนวณจากตัวเลขของกองทุนจริงๆ กันครับ
ยกตัวอย่างกองทุน TMBGOLDS ใช้ข้อมูลของวันที่ 2 มี.ค. 2020 ซึ่ง NAV เท่ากับ 10.7945 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2,030,147,181 บาท คำนวณย้อนกลับมาเป็นจำนวนลงทุนทั้งหมดได้ 2,030,147,181 ÷ 10.7945 = 188,072,368.43 หน่วย
สมมติผมซื้อกองทุนนี้เพิ่มไปเลย 10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนหน่วยลงทุน 10,000,000 ÷ 10.7945 = 926,397.70 หน่วย แล้วลองคำนวณ NAV ใหม่หลังจากผมซื้อไปแล้วดู
จะเห็นว่า NAV ไม่ได้เปลี่ยน ถึงแม้ว่าจะซื้อกองทุนเพิ่มเข้าไปครับ
สรุปแล้วตีกราฟกองทุนได้มั้ย
เราไม่ควรตีกราฟกองทุนแบบกราฟหุ้น ด้วยเหตุผล 3 ประการตามความเห็นของผม คือ
- ราคา NAV ไม่ได้สะท้อน demand-supply ราคาสูงไม่ได้แปลว่าคนซื้อเยอะ ราคาต่ำไม่ได้แปลว่าคนขายเยอะ
- กองทุนลงในสินทรัพย์หลายตัวผสมกัน ซึ่งแต่ละตัวอาจจะไม่ได้ไปในแนวโน้มเดียวกัน วิเคราะห์ค่อนข้างลำบาก
- ผู้จัดการกองทุนจะปรับพอร์ตกองทุนตามสถานการณ์อยู่เสมอ ทำให้กราฟราคาไม่สามารถใช้วิเคราะห์ได้อย่างต่อเนื่อง
กรณียกเว้น
ถ้ากองทุนลงในสินทรัพย์ชนิดเดียว อย่างกองทุนทองหรือกองทุนดัชนี ก็อาจจะใช้การตีกราฟ NAV ช่วยวิเคราะห์ได้ (หรือจริงๆ ไปตีกราฟราคาทองหรือกราฟดัชนีเลยจะแม่นยำกว่า เพราะเป็นราคา real-time ส่วนราคากองทุนจะเป็นราคาอัปเดตตอนท้ายวัน)
ส่งท้าย: ถ้าไม่ให้ดูกราฟ แล้วให้ดูอะไร?
ดู “ผลการดำเนินงาน” และดู “นโยบายการลงทุน” เป็นหลักครับ การเติบโตของกองทุนจะขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก ซึ่งจะสะท้อนอยู่ในผลการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยง หรือพวกค่า Max Drawdown อยู่แล้ว ส่วนการดูนโยบายการลงทุน ดูไว้เพื่อที่เราจะได้รู้ว่ากองทุนนี้เค้าโฟกัสในอุตสาหกรรมไหน และในตอนนี้อุตสาหกรรมนั้นเติบโตดีหรือไม่ จะได้เข้าได้ถูกจังหวะ นโยบายการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถึงผู้จัดการกองทุนจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้ามันเป็นขาลงของอุตสาหกรรมนั้น ยังไงก็ต้านไม่ไหวครับ ขอให้สนุกกับการลงทุนทุกท่านครับ
เขียนโดย TUM SUPHAKORN
References:
1 https://www.finnomena.com/holyinvestor/what-is-nav/
2 https://www.investopedia.com/terms/n/nav.asp
3 https://www.investopedia.com/ask/answers/04/032604.asp