เมื่อเช้าตอนขึ้นรถไฟฟ้ามาที่ออฟฟิศ เพลงในมือถือเปิดไปเจอเพลง Remember The Name ของ Ed Sheeran พอดี ฟังไปแล้วก็สะดุดกับเนื้อร้องท่อนนึงในเพลงที่บอกว่า “If you’re talkin’ money then my conversation’s shiftin’. My dreams are bigger than just being on the rich list.” แปลเป็นไทยก็คือ “ถ้าจะพูดถึงแต่เรื่องเงินจะไม่คุยด้วยละนะ ความฝันฉันมันยิ่งใหญ่กว่าแค่จะเป็นคนรวยเว้ย!” น่าจะเป็นอารมณ์ประมาณนี้
ฟังแล้วก็นึกถึงหัวข้อนึงที่พี่แบงค์ Mr.Messenger เคยพูดไว้ในงาน “รวมพลคนอยากลงทุน” ที่ FINNOMENA เพิ่งจัดไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (ฟังคลิปย้อนหลังได้ที่ FINNOMENA Channel) ที่พูดไว้เรื่องความสัมพันธ์ของ “เงิน” และ “ความอยาก” ต่างๆในชีวิต
การตั้งเป้าหมายเรื่องเงินมันไม่ใช่แค่การตอบคำถามว่า “เราอยากมีเงินเท่าไร” แต่มันคือการตอบคำถามที่ว่า “ชีวิตในแบบที่เราอยากได้ ต้องใช้เงินเท่าไร” ต่างหาก เงินเป็นแค่ “เครื่องมือ” ในการไปถึงเป้าหมายเท่านั้น มันไม่ใช่ “เป้าหมาย” ในตัวมันเอง ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องแรกที่เราควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราอยากมีเงินไปทำไม ก่อนที่เราจะกลับไปก้มหน้าก้มตาหาเงิน
จากความคิดเห็นส่วนตัว นี่คือ 3 เหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรเอาเงินมาเป็นเป้าหมายชีวิต
1. ปลายทางมันคือความว่างเปล่า
มีคำพูดนึงของนักแสดงชื่อดังกล่าวไว้ว่า
“I think everybody should get rich and famous and do everything they ever dreamed of so they can see that it’s not the answer.”
– Jim Carrey
จริงๆ แล้วจำนวนเงินมันไม่ได้มีความหมายในตัวเอง มันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราใช้มันไปซื้อในสิ่งที่เราต้องการ ใช้มันเพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ หรือเอามาแบ่งปันคนที่เราอยากแบ่งปัน ตอนนั้นแหละคือตอนที่เงินมันมีประโยชน์ขึ้นมาจริงๆ คนที่ตั้งเป้าไว้แค่จะมีเงินเยอะๆ โดยไม่ได้คิดมาก่อนว่าอยากเอาเงินไปทำอะไร พอมีเงินขึ้นมาจริงๆ แล้วก็คงจะรู้สึกว่างเปล่า เพราะตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะเอามันไปทำอะไร เหมือนกับที่ Jim Carrey บอกว่า It’s not the answer
แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ยังชอบคิดแค่อยากจะมีเงินเยอะๆอยู่? ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะสมองของเรามีนิสัยที่ไม่ค่อยดี คือ สมองชอบทำอะไรง่ายๆ การตอบคำถามว่าเราต้องการอะไรในชีวิตมันเป็นคำถามที่ตอบยาก ต้องใช้พลังงานในการคิดและการสังเกตตัวเองพอสมควร แต่การตั้งเป้าหมายไว้ที่การมีเงินมากๆ แล้วคิดแค่ว่าถ้ามีเงินแล้วเดี๋ยวก็มีความสุขเอง มันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า จะเรียกว่ามันเป็น “ความมักง่าย” ของสมองก็ได้ ที่ชอบยึดติดกับคำตอบแรกที่นึกขึ้นได้ แล้วก็ไม่สนใจมองหาคำตอบอื่นเลย
สำหรับบางคนถ้ายังติดใจกับคำพูดของ Jim Carrey ว่า “ก็เค้ารวย รวยแล้วก็พูดได้ว่าเงินมันไม่สำคัญ” อยากให้ลองดูเหตุผลข้อต่อไปครับ
2. การมีเงินมากเกินความจำเป็น ไม่ได้เพิ่มความสุข
ยิ่งมีเงินเยอะ ยิ่งมีความสุข เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่…มันเป็นจริงเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น
หลังจากที่เรามีเงินมากพอเลี้ยงปากท้องและความอยากต่างๆ ของตัวเองได้แล้ว จำนวนเงินส่วนเกินที่เพิ่มมากขึ้นนั้นไม่ได้ทำให้ความสุขเรามากขึ้นตามแต่อย่างใด
ที่มา: https://www.geolsoc.org.uk/Geoscientist/Archive/October-2014/Beyond-GDP
มีคนทำงานวิจัยไว้ครับ เค้าทดลองวัดความสุขของคนเทียบกับรายได้ต่อหัวประชากรของประเทศนั้นๆ ผลการวิจัยนี้ได้ข้อสรุปว่า โดยเฉลี่ยประเทศที่มีรายได้เยอะกว่าจะมีความสุขมากกว่าประเทศที่รายได้น้อยกว่า แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นเสมอไป
สรุปก็คือ เงินช่วยเพิ่มความสุขจริง เพราะมันช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างในชีวิต แต่หลังจากที่ชีวิตไม่ได้มีปัญหาอะไรแล้ว การมีจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นมันไม่มีความหมายอะไร ความหมายของชีวิตหลังจากนั้นมันจะไปตกอยู่ที่การตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะเอาเงินที่หามาได้ไปใช้ทำอะไร ต่างหาก
3. ไม่สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้
เหตุผลข้อสุดท้ายว่าทำไมไม่ควรเอาเรื่องเงินมาเป็นเป้าหมาย คือ คนที่คาดหวังกับเรื่องเงินมากๆ มักจะลงทุนได้ไม่ดี
อย่างที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนที่เก่งๆ จะเข้าใจดี ว่าการลงทุนไม่ว่าอะไรก็ตามไม่สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้ 100% มันมีความเสี่ยงที่เงินต้นของเราจะเกิดความผันผวนอยู่เสมอ
สำหรับคนที่ยึดติดว่าการมีเงินเพิ่มขึ้นคือเป้าหมายของชีวิต เค้าจะไม่สามารถทนเห็นความผันผวนที่เกิดจากการลงทุนได้ พอเห็นหุ้นเหวี่ยง หรือกองทุนที่ถืออยู่ราคาลดลง ก็เกิดผลกระทบกับจิตใจโดยตรง พอเงินลด ความสุขก็ลดตาม เพราะเค้าเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกไว้กับจำนวนเงิน สุดท้ายก็จะถือสิ่งที่ลงทุนอยู่ได้ไม่นาน แล้วก็ออกจากเกมนี้ไป
ส่งท้าย
สำหรับใครที่ยังยึดติดกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อยู่ ลองเริ่มถามตัวเองแบบนี้ก็ได้ครับว่า ถ้าเกิดมีเงินมากๆ แล้วเราอยากจะเอาเงินนั้นไปทำอะไรกันแน่ ถ้าเกิดเราตอบได้ ก็ถือว่าเราวางเป้าหมายไว้ถูกทางแล้วครับ แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้กลับมาคิดกับตัวเอง ว่าเรา “อยาก” ทำอะไรในชีวิตกันแน่ และสิ่งๆ นั้นจำเป็นต้องใช้เงินเท่าไร ไม่แน่ว่า ชีวิตในแบบที่เราอยากได้ อาจจะไม่ต้องใช้เงินมากมายขนาดนั้นก็ได้
TUM SUPHAKORN