นิยามของการวางแผนการเงิน คือการค้นหาเป้าหมายทางการเงิน แล้วหาวิธีการในการไปสู่เป้าหมาย แต่ปัญหาคือ วิธีการในการไปสู่เป้าหมายการเงินนั้นมันต้องใช้เวลา และความอดทน และหลายครั้งเรามีความเสี่ยงที่จะหลุดเป้าหมายไปเพราะว่ายิ่งเวลาผ่านไป เรามีสิ่งที่มาเบี่ยงเบนตัวเราในการบรรลุเป้าหมายการเงินยิ่งมากขึ้น จน เราหลุด “โฟกัส” ในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินในที่สุด
เวลาในการศึกษาข้อมูล ความยุ่งยากในการทำธุรกรรม ความกลัว ความโลภ ความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้เป้าหมายดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้น จากเงินเก็บที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลับกลายเป็นว่ามีเหตุอันต้องทำให้เราไม่ได้ลงทุนตามที่เราตั้งใจไว้
ในหนังสือเรื่อง Nudge ซึ่งมีนาย Richard Thaler นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด ทำการศึกษาเรื่องจิตวิทยาการเงิน (Behavioral Finance) ช่วยอธิบายได้อย่างมาก ว่ามนุษย์เรา จริงๆแล้วไม่ได้มีเหตุมีผลอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก เพราะถ้าเรามีเหตุผลจริงๆตามเศรษฐศาสตร์ เราก็ต้องเลือกสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในการลงทุนระยะยาว แต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติ เราไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะเป็น เรามีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง (เยอะมากด้วย) ดังนั้น ใครที่ “สะกิด” (แน่นอนว่าการสะกิดนั้นไม่ใช่การบังคับ แต่ถ้าเรียกง่ายๆก็คือเป็นกุศโลบาย) ให้เลือกวิธีการสู่เป้าหมายทางการเงินที่ดี ย่อมช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
การใช้ระบบเข้ามาช่วยสะกิด ช่วยให้เราสามารถบรรลุแผนการเงินได้
จาก ข้อมูล สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นว่าแหล่งเงินได้หลักๆเพื่อการเกษียณจะอยู่ในรูปของ ประกันชีวิต อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมกันอยู่ที่ 52% ในขณะที่ กองทุน LTF/RMF หุ้นสามัญ หรือตราสารหนี้ มีสัดส่วนรวมกันเพียงแค่ 11%
หากลองดูกลไกของการเก็บออมเงิน เราจะพบว่า ประกันชีวิต อสังหาฯ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเงื่อนไขในการ “บังคับ” ให้เก็บออมอย่างเป็นระบบ ประกันต้องส่งเท่าๆกันทุกปี หากเวนคืนก่อนมักจะได้เงินไม่ครบ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความสะดวกในแง่ของการหักเงินจากเงินเดือนออกไปโดยอัตโนมัติดังนั้นผู้ออมในระบบนี้จึงไม่ได้รู้สึกลำบากอะไร อสังหาฯ ถ้าเป็นการผ่อนกับธนาคาร อย่างไรก็ต้องผ่อนไม่งั้นเดี๋ยวถูกยึด
ในขณะที่กองทุน LTF ส่วนใหญ่มักอยู่จนครบเทอม 5 หรือ 7 ปีแล้วค่อยทำการถอนออกมา ไม่ได้มีแรงจูงใจให้เก็บเงินยาวกว่านี้ ไม่ต้องพูดถึงหุ้นหรือกองทุนรวมทั่วไปที่ซื้อขายได้ตลอดเวลาซึ่งทำให้เก็บเงินเท่าไหร่ เงินก็ไม่ค่อยอยู่ในบัญชีเราซักที
เรารู้แน่ๆ ว่าเงินที่ลงทุนกับหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนได้สูงในระยะยาว แต่ว่ากลไกของทรัพย์สินเหล่านั้นมักไม่ได้ดึงดูดเราให้ถือได้นานๆ กลายเป็นว่าตัวเลือกที่ดีๆเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เราไปสู่เป้าหมายทางการเงินอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น การไปสู่เป้าหมายการเงิน หลังจากเราคำนวณตัวเลขต่างๆที่เราต้องการแล้ว สิ่งถัดมาก็จะต้องเลือก เครื่องมือ และวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายด้วย ระบบ “สะกิด” ที่ช่วยในการไปสู่เป้าหมายการเงิน ดังนี้…
การสะสมการลงทุนแบบ DCA
วิธีนี้เป็นวิธีที่ดูเผินๆเหมือนจะดูไม่มีอะไร แต่ว่าหากลองดูจริงๆแล้ว การใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA ไม่ใช่แค่เป็นการกระจายต้นทุนในการลงทุนเท่านั้น แต่เป็นวิธีที่ดีในการ “สะสม” การลงทุนด้วย คนทั่วไปไม่ได้มีเวลามาจัดการการลงทุนของตัวเอง รวมทั้งสิ่งที่คอยขัดจังหวะการลงทุนนั่นคือ ความรู้สึก ครับ ดังนั้น การใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA จึงเป็นการสะกิดให้ลงทุนแบบง่ายๆแต่ได้ผลดีเยี่ยม ยิ่งทุกวันนี้ บรรดา บลจ. ต่างๆ ก็มีระบบการ DCA อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าตัดบัญชีเงินฝากทุกๆงวดเลยทีเดียว ทำให้การDCA ยิ่งเป็นวิธีที่ง่ายขึ้นไปอีก แต่วิธีนี้ก็มีข้อแม้ก็คือ ต้องลงทุนในระยะยาวพอจึงจะเห็นผลลัพธ์ และ ต้องลงในทรัพย์สินที่มีศักยภาพในการเติบโต อย่างเช่นพวกกองทุนดัชนี ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีความมั่นคงสูง ไม่ใช่ไป DCA กับหุ้นปั่นนะครับ อันนี้จะกลายเป็นเจ๊งต่อเนื่องนะครับ
การออมเงินในรูปแบบประกันสะสมทรัพย์
หากว่ากันตามตรง การออมเงินในรูปแบบประกันสะสมทรัพย์นั้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่จูงใจผู้ออมอย่างเป็นกอบเป็นกำ ยิ่งคนที่มองเพียงเรื่องของ “ผลตอบแทน” บางคนอาจจะไม่ได้สนใจการออมในรูปแบบนี้ด้วยซ้ำ แต่การออมในรูปแบบนี้มีข้อดีใหญ่ๆ สามข้อด้วยกัน ข้อแรกคือทำให้เรามีเงินเกษียณที่เป็นก้อนได้แบบจริงจังและเป็นระบบ(คิดซะว่ายอมได้ผลตอบแทนน้อยหน่อยแต่เหมือนกับจ้างให้บริษัทประกันช่วยมากวดขัดเรื่องการออม) ข้อสองคือมีความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิตหรือกรณีทุพพลภาพ บริษัทก็จะจ่ายเบี้ยประกันแทนให้กับเรา และข้อสามคือ
อายุยังน้อย ลองเลือกลดหย่อนภาษีผ่าน RMF ก่อน LTF ดีมั้ย?
เวลาที่เราครบกำหนดถอนเงิน LTF ทีไร โปรเจคในการใช้เงินมักจะลอยเข้ามาให้สมองของเราอย่างอัตโนมัติ เช่นนี้เพราะว่าการลงทุนด้วย LTF โดยเฉพาะสำหรับคนอายุน้อยๆนั้นมีทางเลือกในการถอนเงินออกมาเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น (แต่ถ้าซื้อตอนอายุ 50 แล้วไปถอนออกอายุ 55 ก็ว่ากันอีกเรื่องนึงนะครับ) ดังนั้นหากจะลองลงทุนในกองทุน RMF ดู ก็จะช่วยให้เราสะสมเงินในระยะเวลายาว และถอนเงินออกมาใช้ได้ในเวลาที่เกษียณหรืออายุเยอะๆเท่านั้น อีกอย่างก็คือ RMF นั้นมีทางเลือกในการลงทุนหลากหลายตั้งแต่ความเสี่ยงระดับ 1-8 ไม่เหมือน LTF ที่ต้องลงทุนหุ้นไทยอย่างเดียว
ดูแลสุขภาพแล้วได้รางวัล
หากบอกว่าการมีสุขภาพที่ดี นับว่าเป็นการช่วยลดรายจ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว การดูแลสุขภาพก็ต้องนับเข้าไปอยู่ในแผนการบรรลุเป้าหมายทางการเงินเช่นกัน และทุกวันนี้มีบริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทที่นำไอเดียนี้เข้ามาใช้ โดยการทำตามเงื่อนไขต่างๆเพื่อสะสมแต้ม เช่น เข้าฟิตเนสที่ร่วมโครงการเป็นประจำ ตรวจสุขภาพประจำปี ฯลฯ แล้วแต้มที่ได้จะนำไปใช้แลกของรางวัลต่างๆ หรือเป็นส่วนลดในการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในปีถัดๆไปด้วย
Index Fund นั้นเรียบง่าย แต่ได้ประสิทธิภาพ
เหตุผลหนึ่งที่มีการจัดทำดัชนีขึ้นมาอย่างเช่น SET50 SET100 เพราะว่าใครที่อยากลงทุนในหุ้น แต่ว่ามีข้อจำกัดเรื่องของเวลาในการศึกษา ไม่รู้จะลงทุนในหุ้นตัวไหนดีหรือไม่รู้จะจัดพอร์ตหุ้นอย่างไรดี ตัวเลือกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี อย่างเช่นดัชนี SET50 ซึ่งดัชนีนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ออกมาทั้งเรื่องของขนาดธุรกิจ สัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่กระจุกตัวเกินไป ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ การกระจายกลุ่มอุตสาหกรรม แม้ว่าการเลือกลงทุนแบบดัชนีในบ้านเรา อาจจะไม่ได้กำไรตูมตามแบบเลือกหุ้นรายตัวหรือหุ้นเล็กๆ แต่อย่างน้อยๆเราก็มั่นใจได้แน่นอนว่าโอกาสเจ๊งหนักๆมีไม่มากและอย่างน้อยก็ทำผลตอบแทนระยะยาวได้ชนะเงินเฟ้อแน่นอน
ความจริงรูปแบบการสร้างทางเลือกในการไปสู่ความสำเร็จในการเงินหรือการลงทุนยังมีอีกหลายวิธีครับ ส่วนตัวผมที่คิดว่าช่วยในการ “สะกิด” เรื่องการไปสู่เป้าหมายการเงินได้คือ มีคนช่วยดูแลครับ อาจจะเป็นที่ปรึกษาการเงินใกล้ตัวท่าน หรือหากว่าเราสามารถวางแผนการเงินได้ด้วยตัวเองก็ต้องดึงคนใกล้ตัวให้มาร่วมวางแผนการเงินกับเราด้วย และคอยเป็นกำลังใจให้กัน หรือคอยช่วยกันดูว่าใครควรจะต้องเพิ่มเติมระมัดระวังเรื่องอะไรบ้างในการวางแผนการเงิน
สุดท้ายมีคน “สะกิด” แล้ว ที่เหลือก็ต้องตัดสินใจกันเองแล้วล่ะครับ