สินทรัพย์ที่คนส่วนใหญ่นำมาลงทุน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical Asset) เช่น ที่ดิน คอนโดมิเนียม นาฬิกา เครื่องประดับ เป็นต้น และสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ คือ สินทรัพย์การเงิน (Financial Asset)
ในส่วนของสินทรัพย์การเงินก็ยังแบ่งได้อีกหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยความเสี่ยงจะมาจากความผันผวนของผลตอบแทนในสินทรัพย์นั้น ๆ ยิ่งผันผวนมากก็จะแสดงว่ามีความเสี่ยงมาก แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีความผันผวนน้อยแสดงว่ามีความเสี่ยงน้อย และมีโอกาสได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ
มาทำความรู้จักสินทรัพย์แต่ละประเภทต่อที่และผลตอบแทนเฉลี่ยเหล่านี้กันได้เลย
1. เงินฝากธนาคาร หรือ ตลาดเงิน
- เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่นได้ตลอดเวลา
- มีความเสี่ยงต่ำมาก
- ได้ผลตอบแทนคงที่ในรูปแบบของดอกเบี้ย โดยส่วนใหญ่จะจ่ายปีละ 2 ครั้ง
- ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.25 – 1.5% ต่อปี
2. เงินฝากดิจิทัล
- เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง คล้ายกับเงินฝากออมทรัพย์ แต่จะไม่มีสมุดบัญชีเงินฝาก และใช้งานผ่าน Application
- มีความเสี่ยงต่ำมาก
- ได้ผลตอบแทนคงที่ในรูปแบบของดอกเบี้ย บางธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน บางธนาคารก็จ่ายปีละ 2 ครั้ง
- ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1 – 2% ต่อปี
3. ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ พันธบัตรรัฐบาล
- เป็นเอกสารที่ภาครัฐออกเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนทั่วไป (ภาครัฐเป็นหนี้)
- ความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินคืนอยู่ในระดับต่ำ
- สภาพคล่องต่ำ เนื่องจากมีระยะเวลาการไถ่ถอนหรือครบกำหนดอายุ เช่น พันธบัตรรัฐบาล 5 ปี, พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี
- ได้ผลตอบแทนคงที่ในรูปแบบของดอกเบี้ย โดยส่วนใหญ่จะจ่ายปีละ 2 ครั้ง
- ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4 – 2.0% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของพันธบัตร)
4. ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้
- เป็นเอกสารที่ภาคเอกชนออกเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนทั่วไป (ภาคเอกชนเป็นหนี้)
- ความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะได้รับเงินคืนขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทผู้กู้ยืม
- สภาพคล่องต่ำ เนื่องจากมีระยะเวลาการไถ่ถอนหรือครบกำหนดอายุเหมือนกับตราสารหนี้ภาครัฐ
- ได้ผลตอบแทนคงที่ในรูปแบบของดอกเบี้ย โดยส่วนใหญ่จะจ่ายทุก ๆ 3 เดือน
- ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัทนั้น เช่น หุ้นกู้ระดับ Investment Grade (เรทติ้ง AAA ถึง BBB-) ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1.2 – 5.0% ต่อปี ส่วนหุ้นกู้ระดับ Speculative Grade (เรทติ้ง BB+ ถึง D) ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่า 5.0% ต่อปี
5. ตราสารทุน หรือ หุ้น
- ตราสารที่แสดงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของกิจการ สามารถซื้อขายกันได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- ราคาหุ้นที่ซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงทุกวันแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ
- ความเสี่ยงสูง เพราะระหว่างวันราคาซื้อขายหุ้นสามารถขึ้นลงได้ถึง 30% จากราคาเมื่อวาน
- สภาพคล่องสูง เพราะเราสามารถซื้อขายหุ้นได้ตลอดช่วงเวลาทำการ
- ผลตอบแทนจะได้รับในรูปแบบของเงินปันผล และส่วนต่างราคาหุ้น โดยผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 8 – 12% ต่อปี
6. ทองคำ
- เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ธนาคารแห่งชาติทั่วโลกก็นิยมใช้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ
- สามารถลงทุนในทองคำได้หลายรูปแบบ เช่น ทองคำแท่ง ตั๋วสัญญา เป็นต้น
- ความเสี่ยงปานกลาง มีความผันผวนตามปัจจัยทางเศรษฐกิจโลก แต่ทองคำเป็นทรัพยากรที่จำกัด จึงทำให้มีโอกาสที่ราคาสูงขึ้นได้ในระยะยาว และราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
- สภาพคล่องสูง หาซื้อได้ง่ายและขายได้คล่อง สามารถเดินไปซื้อขายที่ร้านทองเองได้
- ผลตอบแทนจะได้รับในรูปแบบของส่วนต่างราคา โดยผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 – 5% ต่อปี
7. สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodities
- เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่มีตามธรรมชาติและมีจำนวนจำกัด โดยสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซ ทองแดง เหล็ก ยางพารา เป็นต้น
- เราสามารถลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านสัญญาฟิวเจอร์ส ซึ่งจะเป็นสัญญาที่กำหนดวันขนส่งสินค้าไว้ล่วงหน้า และจะถูกขายก่อนที่จะหมดอายุ นอกจากนี้ ฟิวเจอร์สยังสามารถใช้เป็นการเก็งกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาได้อีกด้วย
- ความเสี่ยงสูง เนื่องจากราคาขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทานในตลาดเป็นหลัก โดยสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงมาก และขาดทุนได้อย่างมากเช่นกันถ้าลงทุนผิดจังหวะ
- ผลตอบแทนในแต่ละสินค้าโภคภัณฑ์จะแตกต่างกัน บางปีอาจจะติดลบ แต่บางปีก็อาจจะโตสูงถึง 20-30% ต่อปี
8. Bitcoin
- สกุลเงินดิจิทัล ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญเงินบาท ถือเป็นสกุลเงินแรกของโลกที่ถูกเรียกว่าคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) และได้รับความนิยมมาก
- ความเสี่ยงสูง ความผันผวนของราคาก็สูงมาก ราคาสามารถขึ้นลงได้ในระดับหลักสิบ % ภายในไม่กี่ชั่วโมง
- สภาพคล่องสูง เนื่องจากตลาด Cryptocurrency สามารถถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีวันหยุดทำการ
- ผลตอบแทนจะได้รับในรูปแบบของส่วนต่างราคา โดยหากดูผลตอบแทนย้อนหลังแบบ Year To Date จะพบว่า บางปีเคยติดลบถึง 70% แต่บางปีก็สามารถเติบโตสูงถึง 1,000%
9. Dogecoin
- สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่ได้รับการพูดถึงในปีนี้เป็นอย่างมาก เพราะในช่วงที่ราคาเหรียญ Cryptocurrency อื่นปรับตัวลง แต่ Dogecoin กลับปรับตัวขึ้นสวนทางกับเหรียญอื่น ๆ และอีกสาเหตุที่ทำให้ Dogecoin ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ก็คงหนีไม่พ้นที่ อีลอน มัสก์ ออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงเหรียญนี้
- ความเสี่ยงสูง ความผันผวนของราคาก็สูงมาก
- สภาพคล่องสูง เหมือนกับ Bitcoin เช่นกัน
- ผลตอบแทนจะได้รับในรูปแบบของส่วนต่างราคา โดยหากดูผลตอบแทนย้อนหลังแบบ Year To Date ของปีนี้ Dogecoin ปรับขึ้นมาถึง 7,600% และในปีนี้เคยลดลงจากจดสูงสุดถึง 59%
10. กระเป๋า
- การลงทุนกระเป๋าแบรนด์เนมถือเป็นการลงทุนทางเลือกสำหรับคนที่ชอบกระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คือคุณผู้หญิงนั่นเอง กระเป๋าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในตัวเองเช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เพียงแต่เราจะต้องศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นก่อน รวมถึงต้องรู้กระเป๋าใบไหนที่สามารถทำกำไรได้บ้าง
- สภาพคล่องปานกลาง เพราะกระเป๋าแบรนด์เนมมีมูลค่าที่สูง ดังนั้นเราอาจจะต้องรอจังหวะเวลาที่เจอคนชอบกระเป๋าของเรา ซึ่งจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ไม่อาจคาดเดาได้
- ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี
11. นาฬิกา
- การลงทุนนาฬิกาก็เป็นการลงทุนทางเลือกเช่นกัน โดยนาฬิกาจะเป็นของสะสมของคุณผู้ชายและนักธุรกิจ เมื่อเก็บสะสมไว้นานจนกลายเป็นของเก่าแต่กลับมีมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เริ่มมีคนสนใจลงทุนในนาฬิกามากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรือนที่จะมีมูลค่าเพิ่ม ขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดด้วย
- สภาพคล่องปานกลาง เพราะนาฬิกาบางเรือนก็มีมูลค่าสูงมากจึงอาจจะต้องใช้เวลาในการรอขายทำกำไร
- ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี
TopLiner
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/TopLinerFund/posts/106802858338041