ในช่วงแรกที่มีการก่อตั้งกองทุนประกันสังคมนั้น มีนโยบายไว้อยู่ว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนไม่มากนัก เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เหลือไว้ใช้จ่าย จะได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังเร่งพัฒนาไปในตัวแต่ปัจจุบันมูลค่าการจ่ายบำนาญเพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 2 – 3 ปีแล้ว และกำลังจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เพราะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บวกกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็แพงขึ้น อายุยืนขึ้น และอัตราการเกิดน้อยลง
จากการที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียณที่เพิ่มเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้ต้องมีการสำรองเงินเพิ่มมากขึ้น และเพื่อการสร้างสมดุลของระบบการออมที่เหมาะสม จึงควรมีการปฏิรูปการออมเงิน โดยเฉพาะของกรณีบำนาญชราภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และอนาคตของคนในยุคปัจจุบันรวมไปถึงคนรุ่นหลัง
สาเหตุ ที่ตอนนี้การจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ
- จำนวนของคนเกษียณอายุมีมากขึ้น
- การจ่ายเงินบำนาญต่อคนสูงขึ้น เนื่องจากคนมีอายุยืนขึ้น
ดังนั้น การปฏิรูประบบบำนาญชราภาพทำได้หลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น
1. ขยายอายุเกษียณให้มากขึ้นจาก 55 ปี เป็น 60 ปี หรือมากไปกว่านั้นในอนาคต
อายุการเกษียณทั่วโลก มีอัตราค่าเฉลี่ยที่แตกต่างกันออกไป แต่จะเห็นว่าอายุเกษียณของประเทศไทย แทบจะต่ำที่สุด โลก หากมองไปทีประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซีย เวียดนาม ได้มีการขยายอายุเกษียณใหม่ไปถึงอายุ 60 ปี ไปแล้ว ส่วนประเทศญี่ปุ่นหรืออังกฤษนั้นจะเห็นว่าอายุเกษียณได้ปรับไปถึง 68 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ปรับฐานเพดานเงินเดือนในการคำนวณเงินสมทบให้สูงขึ้น เช่น จาก 15,000บาท เป็น 20,000 บาท
เพดานฐานค่าจ้างของประกันสังคมไม่เคยเปลี่ยนแปลง สูงสุดยังคงอยู่ที่ 15,000 บาท (หมายความว่าถ้าเงินเดือนสูงกว่านี้ ก็สามารถจ่ายเงินสมทบได้แค่เท่ากับคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาทเท่านั้น) ซึ่งใช้มานาน 25 ปีแล้ว และด้วยรายได้เฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้น ตอนนี้มีผู้ประกันตนประมาณ 30% แล้วที่เงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท ทำให้ผู้ประกันตนกลุ่มนี้เสียโอกาสในการออมเงินเพิ่ม
3. เพิ่มอัตราเงินสมทบตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา จะเห็นว่าอัตราเงินสมทบของประเทศไทยต่ำมากๆ ทำให้ได้บำนาญน้อย และจากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้พบว่าเราควรจะต้องมีการส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 15 % ของเงินเดือน หากประเทศไทยไม่เก็บเงินสมทบเพิ่ม บำนาญที่จะได้รับอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต
หากไม่มีการปฏิรูป ผู้ประกันตนรุ่นปัจจุบันที่ออมเงินไม่มากพอ ในอนาคตอาจต้องถูกเก็บเงินสมทบ หรือต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้รองรับกับการจ่ายเงินบำนาญในอนาคตครับ
ในระยะยาวอัตราเงินสมทบในส่วนของบำนาญจากนายจ้างและลูกจ้างรวมกันก็จะต้องอยู่ระหว่าง 15%-25% เหมือนประเทศที่มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกับไทย โดยควรจะเริ่มขึ้นกับผู้ประกันตนรุ่นปัจจุบัน
สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ ถึงเวลาแล้วครับที่ต้องปฏิรูป “เงินบำนาญของกองทุนประกันสังคม” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่นับวันก็แพงขึ้น รวมถึงอายุคนเราที่ยืนยาวขึ้นอีก ซึ่งนั่นก็แปลว่าเงินบำนาญในอนาคตก็ควรต้องมีมากขึ้นเป็นทวีคูณเพื่อให้แต่ละคนมีเงินเพียงพอในยามเกษียณ
อีกสาเหตุหนึ่งคือ กองทุนประกันสังคมได้จัดตั้งมานานแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยที่จะทยอยจ่ายเงินบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การปฏิรูปจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่ปฏิรูปเสียแต่วันนี้ มันจะกลายเป็นการผลักภาระทางสังคมของเราไปสู่คนรุ่นหลังโดยไม่จำเป็น
ในส่วนตัวผมนั้น ผมว่าการปฏิรูปที่ว่านี้จะสำเร็จได้ด้วยดีนั้นคงต้องเริ่มที่การสร้างจิตสำนึกที่ดีของทุกคน และค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่เหมาะสมครับ