ประกันสังคม เกษียณ

เชื่อว่าสิบปีจากนี้เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น

เพราะไทยจะเป็นประเทศที่มีอัตราเร่งผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยในอีกห้าปีข้างหน้าโดยผู้สูงอายุในสังคมไทยจะเพิ่มเฉลี่ยปีละหนึ่งล้านคน ต่อเนื่องตลอดยี่สิบปี

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังประมาณการณ์ว่า 15 ปีข้างหน้าประชากรผู้สูงอายุคือหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 17.6 ล้านคน สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3 % เหลือเพียง 1% นั่นแสดงว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว!

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินผม พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย คิดว่า การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข ต้องมี 3 ปัจจัย คือสุขภาพกายดี สุขภาพจิตใจดี และสำคัญคือสุขภาพทางการเงินดีด้วย แต่ในสังคมสูงอายุคนวัยทำงานที่เป็นผู้หารายได้และเสียภาษีให้ภาครัฐจะลดลงเหลือแค่ 50-60% แต่ต้องแบกรับภาระสูงอาจทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ

“ผู้สูงอายุ ไม่ควรหวังพึ่งพิงลูกหลาน หรืองบประมาณรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ควรเริ่มวางแผนการออมเงินเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงยามเกษียณ มีการคาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงสองเรื่องด้วยกันคือ ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นปีละ 8% ทุกปี กับวิทยาการทางการแพทย์อาจทำให้คนอายุยืนขึ้นถึง 90-100 ปีในอีกสามสิบปีข้างหน้า หากถามว่าปัจจุบันเงินออมที่มีเพียงพอไหม คงต้องถามว่า ณ วันนี้และในอนาคตเราจะใช้เท่าไหร่”

คำแนะนำของผมคือ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ควรเริ่มติดอาวุธทางด้านการออม โดยหมั่นศึกษาวิธีการลงทุนแต่ละรูปแบบที่เหมาะสม อีกทั้งการออมที่เป็นเงินก้อน ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะเราอาจวางแผนว่าจะใช้เงินถึงอายุ 75 ปี แต่หากอายุยืนมากกว่านั้น เงินก้อนที่เตรียมไว้อาจไม่พอ ส่วนการลงทุนหลังวัยเกษียณก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ผู้สูงวัยจะไม่ผิดพลาดหรือสูญเสียเงินทั้งก้อนจากการลงทุน

ดังนั้นการมีประกันบำนาญถือเป็นเครื่องจักรทำงานด้านเงินชนิดหนึ่งที่เป็น passive income ซึ่งคอยผลิตเงินให้เราเรื่อยๆ ตลอดชีวิตสามารถลดความเสี่ยงจากที่อายุสั้นและอายุยืนไปในตัว โดยเฉพาะการประกันบำนาญของประกันสังคม ที่จะจ่ายเงินให้เท่ากับอายุขัยของเราพอดีซึ่งเหมาะเป็นประกันพื้นฐานอันดับแรกของประชาชนชาวไทยที่พึงมี

ระบบประกันสังคมเป็นระบบสวัสดิการที่รัฐจัดตั้งขึ้นมาเหมือนเป็นกองทุนประเภทเพื่อการออม ไม่ใช่การเก็งกำไร และยังเป็นการฝึกให้คนไทยมีวินัย “ออมก่อนใช้” โดยการที่รัฐหักเงินสมทบไว้ก่อนคืนให้ในอนาคตที่สำคัญเป็นระบบออมที่ให้ผลตอบแทนสูงและให้ทันทีที่เริ่มออม เพราะจะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างใส่เข้ามา 100% และรัฐบาลสมทบอีกหนึ่งในสาม ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูงและรับผลตอบแทนได้ตลอดชีวิต แม้แต่ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงยังไม่ได้ขนาดนี้เลย ซึ่งหากเป็นในต่างประเทศภาครัฐจะหักเงินส่วนนี้สูงมากกว่าประกันประเภทอื่นๆ

ขณะที่อัตราเงินบำนาญทั่วโลก วิเคราะห์ว่าต้องจัดเก็บเงินส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นถึงจะเพียงพอ แต่ปัจจุบันรัฐคำนวณเงินสมทบจากฐานค่าจ้างแค่ 15,000 บาท หรือเฉลี่ยประมาณ 6% (รวมที่ได้รับสมทบจากนายจ้างแล้ว) จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ประกันตนมีโอกาสออมน้อยและได้รับเงินบำนาญน้อยเกินไป ซึ่งการปรับเพิ่มฐานดังกล่าวหรือการปฏิรูปโครงสร้าง การจัดเก็บใหม่ให้เหมาะกับสภาวะการณ์จริง จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินใช้ยามเกษียณอย่างพอเพียงเหมาะสมในการดำรงชีวิตได้

“ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวต้องปฏิรูป แต่ประเทศอื่นๆ มีการปฏิรูปมานานแล้ว ในอังกฤษเริ่มตื่นตัวมีการเตรียมพร้อม โดยขยายอายุออกไปเรื่อยๆ ทุกปี การที่จะทำให้บำนาญของประกันสังคมจ่ายระดับค่าครองชีพตามที่ควรจะเป็นได้นั้น ในส่วนนี้เบี้ยก็ต้องออมเข้ามาเพิ่มด้วย”

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/advertorial/detail/266