คำถามที่ผมมักจะถูกถามอยู่บ่อยๆ เวลามีคนมาถามเกี่ยวกับเรื่องประกันสังคมคือ “อาจารย์พอทราบไหมครับว่าเงินที่จ่ายไปทุกเดือนให้กับประกันสังคมนั้น คุ้มจริงหรือเปล่า” หรือ “เงินที่จะได้กลับคืนมานั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยครับ”
อย่างแรกที่ทุกคนควรทราบคือ…การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนนั้น เงินมากกว่าครึ่งที่จ่ายไปก็คือเงินออมของเราที่จะเข้าไปสะสมอยู่ในกองทุนชราภาพ (หรือหมายถึง กองทุนบำนาญเมื่อยามเกษียณนั่นเอง) ซึ่งเมื่อลองไปวิเคราะห์ดูแล้ว จะเห็นว่าเมื่อเทียบเงินที่จ่ายสมทบกับเงินบำนาญที่จะได้รับคืนนั้นถือว่าคุ้มค่ายิ่งกว่าที่คิด
ความหมายของเงินบำนาญนั้น คือเงินเพื่อการดำรงชีพพื้นฐาน แต่ถามว่าจะคุ้มยังไง ผมจะขอตอบคำถามด้วยการยกตัวอย่างให้ดูครับจะได้เห็นภาพชัดขึ้น
ผู้ประกันตนเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 25 ปี และเกษียณตอนอายุ 60 ปี รวมแล้วทำงานทั้งหมด 35 ปี ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาท แบ่งเงิน 300 บาท สำหรับค่ารักษาพยาบาล อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และเสียชีวิต และอีก 450 บาทเป็นเงินออม (เท่ากับว่าจ่ายต่อปี 450 x 12 = 5,400 บาท)
ใน 1 ปี จ่ายเงินออม = 5,400 บาท ทำงานทั้งชีวิต 35 ปี เท่ากับจ่ายเงินสมทบประมาณ 189,000 บาท (5,400 x 35 = 189,000 บาท)
เมื่ออายุครบ 60 ปี รวมเงินสมทบจากนายจ้าง เงินสมทบจากรัฐบาล และดอกผลแล้ว จะมีเงินในบัญชีประมาณ 800,000 บาท ซึ่งมาจากเงินออมของเราเพียง 189,000 บาทเท่านั้น
เงินในบัญชีก้อนที่ว่านี้จะถูกทยอยจ่ายออกมาเป็นเงินบำนาญ ซึ่งถ้าอยู่ได้จนถึงอายุ 82 ปี ถึงเวลานั้นยอดเงินบำนาญที่ได้รับทุกเดือน รวมแล้วประมาณ 2,000,000 บาท เลยทีเดียว
ระหว่างจ่ายเงินสมทบเพื่อสะสมเข้ากองทุนชราภาพ [จ่าย 2 แสน]
1. สมทบเดือนละ 750 บาท ซึ่ง 450 บาท ถูกหักออกมาเป็นเงินออมต่อเดือน
2. เงินออมจึงเป็น 5,400 บาท ต่อปี (450 x 12)
3. ออมต่อเนื่องกัน 35 ปี เท่ากับ 189,000 บาท (5,400 x 35)
เงินบำนาญที่จ่ายออกมาจากกองทุนชราภาพ [ได้ 2 ล้าน]
1. บำนาญต่อเดือนสำหรับการจ่ายสมทบยาวนานถึง 35 ปี เท่ากับ 7,500 บาท ต่อเดือน
2. เงินบำนาญจึงเป็น 90,000 บาท ต่อปี
3. อยู่รับเงินบำนาญถึง 22 ปี เท่ากับ 1,980,000 บาท (90,000 x 25)
เปรียบเทียบกันให้เห็นชัดๆ จากเงินต้นที่จ่ายไม่ถึง 2 แสน แต่มีโอกาสรับบำนาญสะสมรวมกันถึง 2 ล้าน
หลักการที่ทำให้ได้รับเงินบำนาญมากกว่า 2 ล้านนั้น มีอยู่ 2 เงื่อนไข คือ
- ในช่วงที่จ่ายเงินสมทบ ให้จ่ายให้นานที่สุด เพราะยิ่งจ่ายสมทบได้จำนวนปีที่มากเท่าไร ก็จะทำให้ได้ตัวคูณตอนรับเงินบำนาญในแต่ละเดือนที่มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ (คล้ายๆโบนัส) มากขึ้นเท่านั้น
- ในช่วงที่ทยอยรับเงินบำนาญ ผมแนะนำให้รักษาสุขภาพและอายุยืนให้ได้มากที่สุด เพราะเงินบำนาญในแต่ละเดือนจะเป็นเงินที่การันตี และถูกจ่ายออกมาเรื่อยๆ จนกว่าจะเสียชีวิต ย้ำนะครับว่า “การันตี” โดยไม่ว่าตลาดหุ้น ทองคำ น้ำมัน หรือสงครามจะเป็นอย่างไร เราก็จะได้เงินบำนาญที่การันตีอยู่เสมอ และการันตีจ่ายทั้งชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งไม่มีประกันแบบไหนที่ให้ได้อย่างนี้แล้ว
จากหลักการข้างต้นนั้น จะเห็นว่ายิ่งจ่ายเงินสมทบให้นานที่สุด ยิ่งอายุยืนให้นานที่สุด ก็จะยิ่งคุ้มหลายเท่าตัวดังที่กล่าวมาครับ (อย่างน้อยก็ 10 เท่า เห็นๆ)
ซึ่งถ้าเราไปเริ่มเข้าประกันสังคมตอนอายุ 35 ปี และจ่ายต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 60 ปี (ก็จะสมทบได้ราวๆ 1.5 แสนบาท) แล้วไปรับเงินบำนาญทุกเดือนจนถึงอายุ 85 ปี (ก็จะได้ไป 1.5 ล้านบาท) เช่นกัน
จากการคำนวณในตารางมรณะที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยใช้คำนวณอายุขัยของคนไทย – รู้ไหมครับว่า เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมานี้ คนไทยเราอายุยืนขึ้นมาเกือบ 20 ปี แปลว่า ถ้าตอนนี้อายุเฉลี่ยของคนไทยเราอยู่ที่ 75 ปี และถ้าเราหมุนเวลาไปข้างหน้าอีก 25 ปีแล้ว ตอนนั้นอายุเฉลี่ยของคนไทยเราคงจะถึง 85 ปี แน่ๆ
จากตัวอย่างที่ผมอธิบายไปนั้น ผมจึงอยากแนะนำว่าแทนที่จะเอาเวลามานั่งลังเลว่ามันคุ้มจริงหรือเปล่า ผมว่าเราเอาเวลามาหมั่นออกกำลังกายกันให้อายุยืนขึ้นดีกว่าครับ จะได้รับเงินบำนาญเต็มๆ ถึง 2 ล้านไปเลย
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน