ถ้าใครต้องการ “ออมเงินในระยะยาว” ในภาวะเช่นนี้ ควรต้องศึกษาให้ดี ๆ ก่อนที่จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยจากการออมที่ต่ำมาก และจากผลการศึกษาที่ผมอ่านมา ทำให้ระบุได้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า พันธบัตรทั่วโลกก็จะให้ผลตอบแทนที่เฉลี่ยได้ไม่เกิน 2% เท่านั้น
ทำให้ผมย้อนกลับมามองใหม่ว่า ตอนนี้มีอะไรบ้างที่ยังเก็บเข้าพอร์ตได้ ซึ่งมันก็คงหนีไม่พ้น หุ้น พันธบัตร อสังหาฯ หรือไม่ก็ทองคำ แต่ไม่ว่าจะซื้อเองหรือซื้อผ่านกองทุน ราคามันแพงสูงเกินพื้นฐานของมันไปแล้ว มาสะดุดตาก็ตรงการซื้อประกันที่ทุกคนมองข้าม โดยเฉพาะตอนนี้ ผมเห็นว่าราคาของประกันบำนาญนั้นต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นอยู่มาก อีกไม่นานราคาจะต้องถูกปรับแพงขึ้น หรือไม่มีให้ซื้ออีกแล้ว ถ้าไม่รีบเก็บเข้าพอร์ตตอนนี้ คงเสียดายและหาสินทรัพย์อื่นมาชดเชยได้ยากแน่
เราลองมาดูเหตุผลที่ทำไม ประกันบำนาญ จึงน่าเก็บเข้าพอร์ตกันดีกว่า
1.) ยังถูกอยู่ – ต้นทุนของประกันบำนาญ คือ พันธบัตรระยะยาว ในเมื่อพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำ (ราคาแพง) แบบนี้ ราคาเบี้ยประกันจึงควรจะแพงตาม แต่โชคดีที่ปกติแล้ว ราคาแบบประกันจะไม่ปรับตัวขึ้นตามทันทีทันใด จะมีระยะเวลาตามหลังตลาดพันธบัตรประมาณ 3-6 เดือน เพราะยังมีพันธบัตรเก่า (ในราคาถูก) ที่ซื้อเก็บไว้และยังไม่ได้ใช้อยู่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ก็เหมือนกับโรงงานทำขนมเค้ก ถ้าราคาน้ำตาลสูงขึ้นมา จริง ๆ ควรต้องขึ้นราคาตามทันที แต่เพราะมีสต๊อกน้ำตาลที่ราคาเดิมอยู่ จึงสามารถรอจนใช้น้ำตาลในสต๊อกหมดก่อน แล้วค่อยปรับราคาขนม
2.) การันตีระยะยาว – เปลี่ยนเงินก้อนจาก Active Income ในวันนี้ ให้กลายเป็น Passive Income ในอนาคต ด้วยผลตอบแทนที่การันตี เฉกเช่นพันธบัตร แต่สิ่งที่ทำมากไปกว่านั้นคือ การ Lock อัตราผลตอบแทนที่สูงในตอนนี้ได้ จนถึงอายุ 80-90 ปี (แล้วแต่แบบประกัน) ซึ่งไม่มีพันธบัตรไหนที่การันตีได้ยาวถึงขนาดนี้ ยิ่งจะคุ้มมาก ถ้าดอกเบี้ยจากพันธบัตรในอนาคต จะเหมือนกับญี่ปุ่นในสมัยก่อน ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี แล้วอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เคยสูงขึ้น นับวันมีแต่น้อยลงจนติดลบไปแล้ว
3.) สภาพคล่องที่ดี – เงินที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันจะถูกสะสมในรูปของสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ของคนที่ซื้อประกันไป ทำให้สามารถมีสิทธิ์กู้กรมธรรม์เพื่อนำเงินสดมาได้ตลอดเวลา จึงมีสภาพคล่องมากกว่า LTF หรือ RMF ที่ไม่สามารถแปลงเป็นสภาพคล่องเพื่อนำเงินสดออกมาใช้ชั่วคราว
4.) การกระจายความเสี่ยง – มันคงจะเสี่ยงมากถ้าใครที่คิดจะลงทุนโดยถือแค่หุ้นหรือพันธบัตรเท่านั้น แต่ในการวางแผนการเงินที่ดี จะต้องมีการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงไปด้วย เพราะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไร วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดฟองสบู่แตก หุ้นตก หรือดอกเบี้ยติดลบ ทางที่ดีที่สุดก็ควรจะมีสินทรัพย์หลาย ๆ อย่างไว้กระจายความเสี่ยง อย่างน้อยเราก็ควรจะมีแหล่งรายได้จากหลาย ๆ ด้าน บางอย่างถือระยะสั้นได้ แต่ก็มีบางอย่างเผื่อถือไว้ระยะยาว
5.) สิทธิทางภาษี 3 ต่อ – เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเบี้ยบางชนิดที่จ่ายไปนำไปลดหย่อนภาษีได้ (ถ้าใครฐานภาษี 10% ก็เท่ากับเหมือนได้ส่วนลดไป 10% เป็นการออมที่น่าสนใจมาก) แต่สิ่งที่ได้มากไปกว่านั้นคือ ดอกเบี้ยผลตอบแทนที่ได้รับจะได้รับการยกเว้นภาษี (ดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้อื่น ๆ จะต้องเสียภาษีถึง 15%) และสุดท้าย ถ้ามีทุนประกันจ่ายเมื่อเสียชีวิต ก็จะสามารถถ่ายโอนเป็นมรดกให้ลูกหลาน โดยไม่เสียภาษีมรดก
6.) สิทธิ์ในการ Refinance – ตราสารตัวนี้ถ้าผมมองในมุมของวิศวกรรมการเงิน ก็ถือเป็น Puttable Bond อย่างหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า เมื่อดอกเบี้ยในตลาดเกิดสูงขึ้นมา ผู้บริโภคก็สามารถใช้สิทธิ์ถอนเงินออกมา Refinance เพื่อไปลงทุนใหม่ในพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าได้ (แต่ก็จะเสียสิทธิ์ในการลดหย่อนทางภาษีไป จึงต้องถามผู้รู้และศึกษาให้ดี ๆ ก่อน)
สุดท้ายนี้ ผมเห็นว่าการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องการวางแผนระยะยาว และมีแต่ความรู้เท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นโอกาสในการจัดพอร์ตการออมให้ยั่งยืนแบบนี้ได้
ดังนั้นควรซื้อถูก และเก็บยาวแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า (นักลงทุน VI) เป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของการวางแผนการเงินยามเกษียณครับ
ที่มาบทความ : คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน โดย ทอมมี่ แอคชัวรี่
http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1470826762