ประกันภัยหรือการพนันเสี่ยงมากกว่ากัน ?
วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า การพนันกับการประกันภัย ที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่จริงๆ แล้วมันมีหลักการและที่มาที่คล้ายคลึงกันในลักษณะของการนำเงินจ่ายเข้ามาไว้เป็นเงินกองกลาง (Pooling) และลักษณะของการยอมรับความเสี่ยง (Risk) อยู่
ขึ้นชื่อว่าการพนันกับการประกันภัยแล้ว ทั้งสองคำนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ความเสี่ยง” ทั้งคู่ แต่มองเป็นเหรียญคนละด้านและต่างขั้วกันอย่างสิ้นเชิง
การพนัน (Gamble)
หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่งเพื่อเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดด้วยการเสี่ยงโชค โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น
- การพนันในการแข่งขัน เช่น เกมไพ่ เกมลูกเต๋า เป็นต้น
- การพนันโดยการทำนายผลที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การแทงบอล การแทงม้า เป็นต้น และ
- การพนันที่ไม่มีการแข่งขันโดยขึ้นกับความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกิด เช่น หวย เป็นต้น
การประกันภัย (Insurance)
หมายถึง การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้
ตามหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะมีภาษาทางคณิตศาสตร์อยู่ตัวหนึ่งที่เรียกว่า “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” ซึ่งหมายถึงการเอาทุกอย่างมาเฉลี่ยกันหมดเพื่อหาค่ากลางออกมา ผลลัพธ์ที่มีความผันผวนออกห่างจาก “ค่าคาดหวัง” จึงเรียกว่า “ความเสี่ยง (Risk)” นั่นเอง
- การพนัน (Gamble) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการถูกรางวัล” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเงินพนันที่ผู้พนันจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้ผู้รับพนัน (หรือเจ้ามือ) ยังมีกำไรอยู่ แต่สิ่งที่ผู้พนันได้ซื้อไปก็คือการได้ลุ้นและหวังที่จะได้รางวัลนั่นเอง เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกชอบเสี่ยง (Risk Taker) หรือพวกที่เป็นนักแสวงโชค
- การประกันภัย (Insurance) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการลูกค้าได้รับเงินประกัน” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเบี้ยประกันภัยที่ลูกค้าจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้บริษัทประกันภัยยังมีผลประกอบการอยู่ แต่สิ่งที่ผู้ซื้อประกันภัยได้ซื้อไปก็คือการได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดความสูญเสียทางการเงิน (Financial Loss) เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse) หรือพวกที่เป็นนักวางแผนการเงิน
จะสังเกตได้ว่าทั้ง 2 แบบนี้มีลักษณะการเอาเงินมารวมเป็นกองกลาง (Pooling) กันก่อน เพื่อรวมความเสี่ยงกันเอาไว้ (เรียกว่า Risk Pooling) แล้วจึงค่อยกระจายออกไปให้แต่ละคน ซึ่งถ้าเป็นพวกชอบเสี่ยง (Risk Taker) ก็จะกลายเป็นนักพนันไป ถ้าเป็นพวกที่ไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse) ก็กลายเป็นการซื้อประกันไป
และหลักการของการรวมความเสี่ยงกันเอาไว้นั้นจึงไปสู่เทคนิค “กฎของจำนวนมาก (Law of Large Number)” คือ การคาดคะเน หรือคำนวณ โอกาสของความน่าจะเป็นจะมีความน่าเชื่อถือสูงขึ้น หากจำนวนของตัวอย่าง (ข้อมูล) ที่ใช้ในการพยากรณ์นั้นมีมากขึ้น ตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว ข้อมูลอะไรก็ตามที่เราศึกษา ถ้ามีมากกว่า 1024 ข้อมูล แล้วจะมีความแม่นยำและเหมาะสม แต่ถ้าจะให้ดี ถ้ามีข้อมูลเกิน 10,000 ตัว รับรองแม่นยำแน่นอนครับ เทคนิค Law of Large Number จึงเปรียบเหมือน การที่มีฟางแค่เส้นนึง มันทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเอาฟางมัดกันเป็นกำ แล้วรับรองว่านำมาทำอะไรได้เยอะมากครับ
สรุปได้ว่า ต้นทุนของการพนันและธุรกิจประกัน ก็คือ “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” หรือ “ค่าเฉลี่ยของผลลัพธ์ที่เป็นไปได้จากสถิติ” นั่นเอง โดยอาศัยหลักการ Risk Pooling หรือการรวมความเสี่ยงเป็นวิธีการที่มุ่งเน้นการลดความผันผวนของข้อมูล จากการนำแนวคิดทางสถิติและเทคนิค “กฎของจำนวนมาก (Law of Large Number)” มาใช้ โดยมีพื้้นฐานของคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ทั้งนั้น แน่นอนว่าธุรกิจต้องดำเนินงานได้โดยไม่ขาดทุน ทั้งการพนันและการประกันภัย จึงถูกออกแบบมาให้ ค่าเฉลี่ยที่ได้ออกมาเป็น “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” ที่จะต้องน้อยกว่า “เงินที่นำเข้าไปในเงินกองกลาง (Pooling)” อยู่แล้ว เพื่อให้เจ้ามือ (สำหรับการพนัน) และบริษัทประกัน (สำหรับธุรกิจประกัน) ดำเนินงานต่อไปอยู่ได้ ว่าง่ายๆ คือ “ราคาขาย” ต้องมากกว่า “ต้นทุน”
จะเห็นว่าการพนันกับการประกันนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ค่าคาดหวังค่าเฉลี่ยของสิ่งที่จะได้กลับคืนมานั้นจะมีมูลค่าน้อยกว่าราคาที่เสียเงินซื้อไป เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากขายของขาดทุนเป็นแน่ แต่สิ่งที่ประกันแตกต่างกับการพนันก็คือประกันจะทำหน้าที่คุ้มครองลูกค้าในเวลาที่เกิดความสูญเสียทางการเงิน (Financial loss) ที่ไม่คาดฝันขึ้น (โดยจะจ่ายทุนประทันเป็นเงินคืนให้กับลูกค้า) ขณะที่การพนันจะจ่ายเงินให้กับคนที่ซื้อก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นทายถูกตามที่ตัวเองได้แทงเอาไว้