เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวที่ประชาชนแห่ร้องเรียนฟิตเนสแห่งหนึ่ง จน สคบ.ต้องเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งทำให้หวนคิดถึงเหตุการณ์ของ California Fitness ว่าเหตุการณ์นี้จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่
เรื่องราวของข่าวนี้จะจบลงอย่างไรนั้นก็อยู่นอกเหนือการคาดการณ์แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาคุยกันได้ก็คือผลกระทบที่เกิดกับตัวลูกค้านั้นคงจะมีขึ้นไม่มากก็น้อยอยู่เป็นแน่โดยเฉพาะถ้าย้อนไปถึง California Fitness คนที่เสียค่าสมาชิกแบบชำระครั้งเดียว แต่บริษัทสัญญาว่าจะให้บริการไปตลอดชีวิต
คุ้น ๆ ไหมครับว่าวิธีการแบบนี้มันเหมือนกับสินค้าของบริษัทประกันอยู่ไม่น้อย โดยภาษาทางการของแบบประกันนั้นจะเรียกว่า ซิงเกิลพรีเมี่ยม (Single Premium) ซึ่งคงไม่ได้แปลว่า “พรีเมี่ยมที่ยังโสดอยู่” แต่มันคือแบบประกันที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว คุ้มครองยาว ๆ เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น
ต่างกันตรงที่ตัวสินค้าสำหรับบางธุรกิจที่ไม่ได้มีเงินคืนเวลาในเวลาที่ไม่ตาย หรือจ่ายเงินค่าสินไหมให้ในเวลาที่ตาย เพียงแต่ธุรกิจเหล่านั้นได้สัญญาว่าจะให้บริการตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้ (แต่ไม่มีสิทธิ์ให้ถอน หรือถ้าถอนออกแล้วก็จะไม่ได้รับเงินคืนใด ๆ) และถ้าในสัญญาเขียนว่าตลอดชีวิต ก็หมายถึงตลอดชีวิตของผู้บริโภคเอง หรือไม่ก็ตลอดชีวิตของบริษัท (จนกว่าบริษัทจะเจ๊ง) ซึ่งแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะสิ้นอายุขัยก่อนกัน
ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญาเอาไว้ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ความคุ้มครอง” หรือ “เงินคืนเมื่อสิ้นสุดสัญญา” และเมื่อเป็นแบบนี้แล้วบริษัทประกันภัยจึงเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” ที่กำหนดว่าบริษัทจะต้องตั้ง “เงินสำรองประกันภัย” เพื่อให้มีเงินเพียงพอแก่ลูกค้าในเวลาที่จะต้องใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการถอนก่อนครบกำหนดสัญญา หรือเงินที่ต้องคืนตามสัญญาเมื่อสิ้นสุดสัญญาประกันภัย
“เงินสำรองประกันภัย” สำหรับลูกค้าในที่นี้จะต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลงทุนได้ (เพราะคงไม่เอาเงินไปฝังไว้ในตุ่มเฉย ๆ) อัตราการถอนเงินออกก่อนครบกำหนดสัญญา (เพราะไม่ต้องตั้งเงินสำรองให้กับคนที่ถอนเงินออกไปแล้ว) อัตราการตายของลูกค้า (ถ้าลูกค้าตายก็จะเอาเงินสำรองส่วนนี้ออกไป และจ่ายค่าสินไหมทดแทน) ให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยบวกกับความน่าจะเป็นต่าง ๆ ในการจำลองธุรกิจ
สิ่งที่แตกต่างกันและเป็นคำถามระหว่างธุรกิจประกันภัยกับธุรกิจอื่น (เช่น ฟิตเนส) เวลาที่ “ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญา” ก็คือ 1) ถ้าถอนก่อนแล้วจะมีเงินคืนหรือไม่ และ 2) ได้มีการตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยสำหรับลูกค้าหรือไม่
ธุรกิจที่ชำระเงินล่วงหน้าไปเป็นก้อนแบบนี้อาจจะระบุในสัญญาว่าลูกค้าจะไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนแม้แต่สตางค์เดียวในเวลาที่อยากจะยกเลิกสัญญาซึ่งว่ากันในทางกฎหมายแล้วถ้าลูกค้าเองยินยอมที่จะเซ็นสัญญาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากแต่สำหรับสินค้าประกันนั้น สัญญาประกันภัยในแต่ละฉบับสำหรับธุรกิจประกันภัยนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจาก “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” เสียก่อนว่าจะไม่เป็นการเอาเปรียบลูกค้า
ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้า “เงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย” สำหรับลูกค้านั้น ไม่ได้ถูกคำนวณเอาไว้หรือถ้าคำนวณเอาไว้ก็คำนวณไว้ได้ไม่
เพียงพอ โดยอาจตีความได้ว่า บริษัทเอาเงินก้อนที่รับมาจากลูกค้านั้นมารับรู้เป็นกำไรในปีนั้นเลย แล้วก็ปล่อยให้ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งบริษัทก็ต้องไปเอาเงินก้อนจากลูกค้าคนใหม่มาโปะให้กับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของลูกค้าคนเก่าอยู่เรื่อยๆ
จนเมื่อเวลาที่ลูกค้าเก่ามีจำนวนมากขึ้นค่าใช้จ่ายจึงมากขึ้นแต่ทว่าเงินก้อนที่หามาได้จากลูกค้าใหม่ ไม่ได้เติบโตเท่ากับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากลูกค้าเก่า ผลสุดท้ายก็คือการขาดสภาพคล่องและขาดทุนในที่สุด
ที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้เป็นการตั้งสมมุติฐานในมุมมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะถูกหรือจะผิดก็ถือว่านี่เป็นกรณีศึกษาแล้วกันครับ
ที่มาบทความ : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1497844702