“ทุกๆ 10 ปี อายุคนเราจะยืนยาวขึ้น 3 – 4 ปี”
ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนไทยในปัจจุบัน ทำให้คนเรามีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนขึ้น (อัตราการตายลดลงมาที่ 0.5% ต่อปี) แต่ในมุมกลับกันจะเห็นว่าอัตราการเกิดกลับลดน้อยลง (จาก 3% มาสู่ 1% ต่อปี) ถึงขนาดที่ว่าเคยมีคนคิดนโยบายเรื่องการเก็บภาษีคนโสดออกมาเพื่อกระตุ้นการมีครอบครัวและเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร
ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ จะส่งผลต่อระบบประกัน โดยเฉพาะการประกันสังคมเป็นอย่างมาก เพราะผู้รับบำนาญจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่เงินสมทบที่จ่ายเข้ามากลับจะน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าการเกิดของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แบบนี้ ทำให้คนวัยทำงานมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากคนวัยทำงานในปัจจุบันจะกลายเป็นผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่มีผลผลิตประชากรรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่
ในอนาคตจำนวนผู้รับบำนาญจะมากกว่าจำนวนผู้ส่งเงินสมทบอย่างแน่นอน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมพร้อมกันล่วงหน้าเพื่อชีวิตยามเกษียณครับ
และหากมองในมุมของประกันสังคมนั้น ผมคิดว่าการปรับช่วงเวลาอายุเกษียณให้เพิ่มขึ้นนั้นเป็นทางเลือกที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เพราะผู้ประกันตนจะได้เพิ่มระยะเวลาในการออมเงินเพื่อเตรียมพร้อมในการเกษียณมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปรับให้จำนวนผู้รับบำนาญกับผู้ส่งเงินสมทบเข้าสู่สมดุลไปด้วยในตัว เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้
อายุการเกษียณทั่วโลก มีค่าอายุเฉลี่ยที่แตกต่างกันออกไป ความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้านของแต่ละประเทศ แต่หากสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าอายุเกษียณของประเทศไทยนั้นต่ำ จนเรียกได้ว่าแทบจะ “ต่ำที่สุด” เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกครับ โดยอายุการเกษียณของไทยอยู่ที่เพียง 55 ปีเท่านั้น (เรียกว่าหน้าเด้งกันอยู่ไม่ทันไรก็เกษียณแล้ว) ซึ่งถือว่ายังแข็งแรงและยังสามารถทำงานได้อีกมาก มีโอกาสที่จะเพิ่มเงินออม เพิ่มเงินบำนาญ เพิ่มคุณค่าของตัวเองก่อนยามเกษียณได้อีกมาก
ดังนั้น อายุเกษียณที่ 60 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยครับ อย่างมาเลเซียหรือเวียดนามเองก็มีการขยายอายุเกษียณใหม่ไปถึงอายุ 60 ปี ไปแล้ว และประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ ก็ได้ปรับอายุเกษียณไปถึง 68 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประกันสังคมของประเทศไทยในวันนี้ควรมีการปรับขยายอายุการเกษียณให้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็เป็นอายุ 60 ปี ในตอนนี้ไปก่อน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว เพราะถือว่าเป็นตัวเลขเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น
แต่ความท้าทายของประกันสังคมยิ่งกว่านั้นก็คือ ในอนาคตจะต้องขยายเพิ่มอายุเกษียณอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตข้างหน้าจะเห็นนิยามของคำว่า “ผู้สูงอายุ” เปลี่ยนไป เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้ค่อยๆ ปรับเกณฑ์และเปลี่ยนนิยามของผู้สูงอายุใหม่แล้ว เนื่องจากประชากรโลกเริ่มมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นและแก่ช้าลง เช่น ผู้สูงอายุคือ ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นต้น
แม้แต่กระทรวงการคลังเอง ก็เคยกังวลเกี่ยวกับวิกฤต “ภาระการคลัง” ที่จะต้องเข้ามารองรับสังคมผู้สูงอายุซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า หากไม่แก้ปัญหาบางอย่างจากปัญหาโครงสร้างประชากรต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วในตอนนั้นก็มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนที่เคยคิดจะเสนอให้ขยายอายุราชการไปเป็น 65 ปี เช่นกัน (แต่กำลังศึกษาอยู่)
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) อยู่ 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของคนทั้งประเทศ ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นคือ ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) จะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งประเทศในอีก 15 ปี ข้างหน้า
เชื่อหรือไม่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นคนสูงอายุคือคนที่อายุเกิน 40 ปี แต่ด้วยอายุขัยเฉลี่ยของคนเราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คนอายุ 60 – 65 ปี คงจะไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็น “คนสูงอายุ” อีกต่อไป
ผมมองว่าการจะปรับอายุเกษียณในโครงสร้างของประกันใดๆ นั้นคงต้องศึกษากันให้ดีๆ ก่อน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้แน่นอนหากทุกคนเข้าใจและสมัครใจในการทำ ดังนั้น อย่างน้อยตอนนี้อาจจะตั้งเป้าหมายการขยายอายุเกษียณเป็น 60 ปีก่อน ส่วนถ้าคิดจะขยายออกไปมากกว่านี้แล้ว ก็ควรจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจให้มีการเลือกได้อย่างสมัครใจ ในเงื่อนไขบางอย่างตามหลักการที่เหมาะสม
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FIA, FSAT, FRM