ความจริง 10 ประการ !! พร้อมรับคลื่น “สังคมไทยสู่วัยเกษียณ”

1. สถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุ

เมื่อครั้งแต่อดีตกาลของประเทศไทยที่มีการสนับสนุนให้คนไทยมีลูกกันมากๆ เข้าไว้ จากสถิติตามตารางข้างล่างจะเห็นว่า ในปี พ.ศ. 2490 (เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว) ยังมีคนไทยเกิดปีละแค่ 4 แสนคน แต่หลังจากมีการรณรงค์อย่างหนัก (จนประสบความสำเร็จเกินคาด) ทำให้ปี พ.ศ. 2506 มีคนไทยเกิดในปีนั้นถึง 1 ล้านคนเป็นปีแรก และก็เกิดปีละ 1 ล้านคนเรื่อยๆ อย่างนี้มาจนถึงปี พ.ศ. 2526

รวมแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ. 2526 มีคนไทย เกิดสะสมมากกว่า 20 ล้านคนช่วงนั้น เราเรียกคนยุคเหล่านั้นว่า เป็นคนยุค baby boomer และปัจจุบันนี้ คนไทยรุ่น  Baby Boomer จะมีอายุอยู่ในช่วง 35 – 55 ปีกัน เรียกได้ว่าเป็นรุ่นเกินวัยกลางคนทั้งนั้น

เราอาจเรียกประชากรรุ่นนี้ว่า รุ่น “เกิดล้าน” (ไม่ใช่เกิดมาหัวล้าน แต่เพราะจำนวนคนที่เกิดในปีนั้น เกิน 1 ล้านคน ต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี)

2. สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก (Bloomberg 2558) และมีประชากรสูงวัยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ 2 (รองจากสิงคโปร์) ใน  ASEAN (UN 2010) และอีก 15 ปีข้างหน้า อีกไม่ถึง ไทยจะแซงสิงคโปร์

โดยจะเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2559 นั้นได้เกิน 10 ล้านคนไปแล้ว (ประมาณ 15%) อยู่ และอีก 15 ปีข้างหน้า คนไทย 1 ใน 4 จะเป็นคนสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี  และจะเป็น 1/3 ในอีก 20 -25 ปีข้างหน้า

จากการประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเห็นว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมีประชากรถึงกว่า 17.6 ล้านคนที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งหมายความว่าในเวลานั้น จากประกากรไทย 100 คน จะมีมากกว่า 25 คนเป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

จำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ระดับของภาวะสังคมสูงอายุ
ปัจจุบัน (2559) ร้อยละ 15 ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)
10 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 (ร้อยละ 20) สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์(Complete aged society)
15 ปีข้างหน้า 1 ใน 4 (ร้อยละ 25)
20 – 25 ปีข้างหน้า 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society)

แหล่งข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. โรคสุดฮิตในผู้สูงอายุ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554 ได้ระบุว่า

ทุกๆ 4 นาที จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง อยู่ 1 คน…

ทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ อยู่ 1 คน…

และทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก อยู่ 1 คน…

จำนวนครึ่งหนึ่งของคนสูงอายุจัดอยู่ว่าเป็นโรคร้ายแรง (NSO 2554) – โรคที่คนสูงอายุเป็นกันคือ มะเร็ง (200 คน ใน แสนคน) หัวใจ/เส้นเลือดในสมอง (180 ในแสนคน) นอกนั้นเป็น เบาหวาน/ไต/ปอด (อีกประมาณ 150 ในแสนคน)

ส่วนโรคร้ายแรงที่ปกติบริษัทประกันจ่าย คือ มะเร็ง 60% -70%  หัวใจ/เส้นเลือดในสมอง 10-20% นอกนั้นเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ

4. โรคที่ต้องเสียสละ

อัตราการเกิดอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่อยู่ที่ อายุ 70 – 80 โดยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 3%-5% และคนที่มีอายุมากกว่า 90 ปี จะมีโอกาสการเกิดอัลไซเมอร์ถึง 30% โดยโอกาสการเกิดอัลไซเมอร์ของผู้หญิงจะมีมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า

อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่คนไม่อยากเป็นมากที่สุด เป็นโรคที่น่ากลัว เพราะบางครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถช่วยตัวเองหรือจำอะไรไม่ได้ ทำให้ลูกต้องเลือกการลาออก เพื่อออกมาอยู่ดูแลพ่อแม่ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ควรให้การสนับสนุนในฐานะการเป็นลูกกตัญญู และเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรทำ แต่ในมุมกลับกันนั้นความกตัญญูก็มาพร้อมกับความเสียสละโอกาสในการทำงาน ซึ่งประสบการณ์และความรู้ที่สะสมมาจากคนๆ นั้น มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกับประเทศชาติอย่างมากมายเช่นกัน ดังนั้น เราจึงถือว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจในอนาคตของไทยด้วย

สถานการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจเห็นภาพลูกๆ วัย 50-60 ปี ดูแลพ่อแม่อายุ 70-90 ปี ซึ่งลูกๆ นั้นก็มีความเสี่ยงสูงเหมือนกัน ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นภาพที่ลูกเป็นอัลไซเมอร์ก่อนพ่อแม่ ได้ด้วยซ้ำ เพราะ ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมของคนสูงอายุรุ่นลูก ดูแลคนสูงอายุรุ่นพ่อ (เพราะกลายเป็นคนสูงอายุ ทั้ง 2 เจเนอเรชั่น) ในประเทศไทยขณะนี้  ถ้าคิดเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวนั้น ก็เป็น 15% ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังกับคู่สมรส (สองคน ตายาย) ก็คิดเป็นประมาณ 25%

5. ผู้สูงอายุกับการรักษาพยาบาล

ผู้สูงอายุเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อการเข้าโรงพยาบาลหนึ่งครึ่ง อยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท และจะสูงกว่าคนไม่สูงอายุอยู่ประมาณหมื่นกว่าบาท (โดยกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (UNFPA) ได้รายงานว่า ในปี 2009 (ล่าสุด) ว่าค่าใช่จ่ายในการเข้าโรงพยาบาลหนึ่งครั้ง ของผู้สูงอายุ ไทยเท่ากับ 17,500 บาท (ในปี 2009))

ส่วนในจำนวน 1 ล้านบาท ในการรักษาพยาบาล 550,000 บาท มาจาก ผู้หญิง และ 450,000 บาท มาจากผู้ชาย

อีกทั้ง ในปัจจุบันนี้ เกือบ 25% ของผู้สูงอายุไม่มีการออม (NSO 2557) โดยจากสถิติใน ปี 2557 อัตราเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลได้กลายเป็น 2 เท่าของอัตราเงินเฟ้อ (ส่วนหนึ่งมาจากผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เพราะการรักษาพยาบาล ไม่สามารถเข้าเครื่องจักรเข้ามาใช้ได้ทั้งหมด เป็น Manual ซะเยอะ)

6. ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น

ทราบหรือไม่ว่า ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 8 – 10 ปี ซึ่งแปลว่า ถ้าเราอายุ 40 ปีในวันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้า ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น เป็น 4 เท่า (เพราะ ผ่านไป 8-10 ปี เป็นจำนวน 2 รอบ) ถ้าบิลค่ารักษาพยาบาลวันนี้ ราคา 1 หมื่นบาท คนอายุ 40 ปี ในวันนี้ ควรต้องเตรียมค่าบิลรักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินถึง 4 หมื่นบาท ถึงจะจ่ายค่ารักษาเหมือนกับบิลค่ารักษาพยาบาล 1 หมื่นบาทในวันนี้

แต่ถ้าคนอายุ 40 ปี ต้องการเตรียมค่ารักษาพยาบาลตอนอายุ 80 ปี แปลว่า จะต้องเตรียมเงินถึง 160,000 บาท เพื่อเทียบเท่ากับบิลราคา 1 หมื่นในวันนี้

บิลในวันนี้ บิลตอนอายุ 80 ปี
40 ปี 50 ปี 60 ปี 70 ปี 80 ปี
10,000 บาท 20,000 บาท 40,000 บาท 80,000 บาท 100,000 บาท

เราเรียกค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นในแต่ละปีว่า Medical inflation โดยจากสถิติแล้ว Medical inflation ในปี 2015 ของไทยอยู่ที่ 8%  ของ เอเชียอยู่ที่ 10% ของตะวันออกกลางอยู่ที่ 12% ส่วนของทั่วโลกเฉลี่ยกันอยู่ที่ 9%

ซึ่งสถิติเหล่านี้ ตีความทางคณิตศาสตร์ประกันภัยได้ว่า “ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้นเป็นทุกๆ 2 เท่า ในรอบระยะเวลาทุกๆ 8 – 10 ปี”

จากข้อมูลปี 2014 ได้ระบุว่า Health care spending ทั่วโลก จะอยู่ที่ประมาณ 10% ของ GDP ซึ่งในอเมริกานั้นจะอยู่ที่ 17%  ของ GDP (นับว่าสูงมากๆ) ขณะที่ อาเชียนนั้นจะอยู่ที่ 4.5% ของ GDP

7. ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย

ตามสถิติแล้ว ผู้หญิงจะมีอายุยืนกว่าผู้ชายประมาณ 5 – 8 ปี และเมื่อมาวิเคราะห์เชิงคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว ก็ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น

  1. ผู้ชายไทยในสมัยวัยรุ่นหรือหนุ่มๆ อยู่จะเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตนั้นมีมากกว่าของผู้หญิงมาก โดยอาจะเป็นเพราะผู้ชายในวัยหนุ่ยจะมีฮอร์โมนที่กำลังพลุ่งพล่าน ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมที่ทำอะไรโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง โดยในช่วงอายุ 15 – 25 ปี นั้นจะมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าผู้หญิงถึง 4 – 5 เท่า
  2. ในสมัยก่อนนั้น การตั้งครรภ์ทารกแต่ละคนจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมาก แต่ปัจจุบันผู้หญิงเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ คลอดลูกน้อยลงมาก จึงเห็นได้ว่าอายุเฉลี่ยของผู้หญิงจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนสำหรับประเทศไทย คือ 6.5% ของ GDP ในประเทศ หมายความว่า ถ้า GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 450 พันล้านเหรียญสหรัฐ นั้น ค่ารักษาพยาบาลในปีนั้นจะอยู่ราวๆ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว

8. เด็กเกิดน้อยลง คนตายน้อยลง 

จาก Trading Economics, CIA World Factbook อัตราการเพิ่มประชากรลดลงจาก 3% ต่อปี มาสู่ 1% ต่อปี ในขณะที่อัตราการตายของประชากรไทยได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 0.5% ต่อปี เท่านั้น  โดยค่าเฉลี่ยอายุ (อายุคาดเฉลี่ย) ของประชากรทั่วโลกนั้นก็สูงขึ้น

9. Long Term Care

ร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากบุตรหลาน หากแต่บุตรหลานไม่สามารถให้การดูแลได้ตลอดเวลา จึงต้องมี long term care (LTC) (The 2011 Survey of the Older Population in Thailand by NSO)

ร้อยละ 50 LTC facility อยู่ ต่างจังหวัด และบุคลากรมีเพียง 0.7 คนต่อผู้สูงอายุ 100 คน (International Labour Organization 2015)

อนึ่ง ประกันแบบ Long Term Care จะมี อัลไซเมอร์ รวมอยู่ด้วยหรือไม่ (ส่วนใหญ่ หรือ เป็นกรณีพิเศษ)

Long term care ปกติ จะเล่นเกี่ยวกับนิยาม 5 ข้อ ของ Active Daily Living (ADL) เช่น ความสามารถในการกินข้าวเอง อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง ถ่ายเอง และเดินไปมาในบ้านเองได้ เช่น แบบประกันอาจจะระบุว่า ถ้าทำไม่ได้ 2 จาก ใน 5 อย่างนี้ แบบประกันถึงจะเริ่มทำงานหรือเริ่มส่งคนมาดูแล

10. ความจำเป็นของ Long Term Care ในอนาคต

สำหรับประเทศไทย ในอนาคตจะมี “ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน (Long Term Care Community Center : LTCC Center โดยมีส่วนร่วมจากชุมชนจังหวัดละ 1 ศูนย์ (ปี 2560 ก็น่าจะเริ่มมี)

High skill nurse ยังมีไม่พอ โดยส่วนใหญ่ปัจจุบันจะใช้การจ้างแรงงานต่างด้าวมาดูและ หรือไม่ก็ลาออกมาดูแลเอง

ปัจจุบันเป็น 5 : 1 (คนทำงาน : คนสูงอายุ) แต่ในอีก 15 ปีข้างหน้า จะเป็น 2 : 1 (คนทำงาน : คนสูงอายุ)

จากสถิติที่ทางผมรวบรวมมาได้ ก็คงจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของการเตรียมตัวเกษียณอายุบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ในโลกอนาคตอีก 10  – 20 ปี ข้างหน้า ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะผลิตแพทย์หรือเตียงคนไข้ได้มากขึ้น 2 – 3 เท่า จากที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของคนสูงอายุในอนาคตอยู่ดี และในอนาคตจะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ เพราะว่าค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่านี้อีกมาก ทางที่ดีที่สุดคือ วางแผนการเงินเพื่อยามเกษียณตั้งแต่วันนี้ และก็คอยรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี อย่าให้เจ็บไข้ได้ป่วย จึงจะดีที่สุด

คำทำนายนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ก็อาจจะประเมินได้จากสถิติ 10 ข้อที่กล่าวมา ซึ่งก็คงจะทำให้เราเห็นภาพการเกษียณในอนาคตข้างหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี) FSA, FIA, FSAT, FRM – นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย

TSF2024