เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นโลก (MSCI ACWI Index) ปรับตัวขึ้น 4.15% ขณะที่ดัชนีความผันผวน (VIX Index) ล่าสุดก็ปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 30% จากที่เคยสูงกว่า 80% ในเดือนมีนาคม โดยการลดลงของดัชนีความผันผวนสะท้อนอารมณ์หรือ Sentiment ของนักลงทุนที่ดีขึ้น หรืออีกนัยก็คือ ความ Panic ของนักลงทุนเริ่มลดลงบ้างแล้ว
ระดับดัชนีที่ปรับตัวขึ้นมาเป็นการสะท้อนมุมมองอนาคตของนักลงทุน ซึ่งเป็นการมองเป็น Forward-Looking รวมถึงในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการคลายล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ ส่งผลต่อความหวังที่ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงความหวังที่บริษัทยาบางแห่งเริ่มมีการทดสอบวัคซีนในระดับคลีนิคแล้ว ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มมีความหวังกับประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้มาตรการต่าง ๆ จากทางการ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการเงินหรือการคลังที่ลดผลระทบทางด้านเศรษฐกิจ เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงเดือนพฤษภาคม
Source : Bloomberg as of 04 Jun 20
Growth Portion: (TMBGQG, TMBUSBLUECHIP, TMBCOF)
ปัจจัยสำคัญในช่วงเดือนพฤษภาคมที่หนุนตลาดหุ้นก็คือการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มทำการเปิดเมือง (Reopening) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว โดย 50 รัฐของสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ครบทุกรัฐแล้ว ในยุโรปเองก็เช่นกัน รัฐบาลฝรั่งเศสยกเลิกการปิดพรมแดนเพื่อให้แรงงานต่างด้าวและนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปสามารถเดินทางเข้าประเทศได้แล้ว นอกจากนี้แล้ว ความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 ก็เป็นอีกแรงหนุนที่สำคัญ หลายบริษัทได้ออกมาประกาศความคืบหน้าของการทดลองวัคซีน
อีกปัจจัยหนุนที่สำคัญคือการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและอัดฉีดเงินเข้าตลาดการเงินทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดมากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับอารมณ์ของนักลงทุน (Sentiment) ที่ดีขึ้นแล้วปัจจัยนี้ทำให้นักลงทุนมีพฤติกรรมที่เรียกว่า “Searching-for-Yields” มากขึ้น คือแสวงหาผลตอบแทนที่สูงโดยหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
Source : Bloomberg as of 04 Jun 20
ส่วนปัจจัยกดดันที่เริ่มจะเห็นการเร่งตัวของความรุนแรงคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงบ่อยอีกครั้ง หลังเหตุการณ์การระบาดของโควิดทำให้คะแนนความนิยมของทรัมป์ลดลง ประกอบกับการทีทรัมป์เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหากไปดูผลโพลล์ที่แต่ละแห่งได้มีการทำออกมา นายโดนัลด์ ทรัมป์มีคะแนนเป็นรองนายโจ ไบเดนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ทำให้ทรัมป์ต้องเร่งดึงคะแนนความนิยมนั้นกลับขึ้นมาให้ได้ โดยนอกจากการต้องเร่งกลับมาเปิดเมืองแล้ว อีกสิ่งที่เขาทำก็คือการเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าจีนจงใจปล่อยเชื้อไวรัสครั้งนี้ การห้ามบริษัทที่ใช้ชิพของสหรัฐฯ ทำธุรกิจร่วมกับหัวเว่ย และล่าสุดก็เรื่องที่สว.สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายว่าอาจทำให้หุ้นบริษัทจีนถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ ส่วนอีกปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการระบาดของโควิดที่ล่าสุดก็เปลี่ยนไประบาดหนักในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries) อย่างบราซิล อิหร่าน แอฟริกา อินเดีย และเม็กซิโก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 ปรับตัวขึ้นประมาณ 4.53% ในเดือนพฤษภาคม ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง ยอดขายบ้านใหม่ของเดือนเมษายนที่สามารถขยายตัวจากเดือนมีนาคม 0.6% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ -21.9% อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแม้จะมีกำไรหดตัวประมาณ 7-8% แต่โดยรวมแล้วก็ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์
Source : Bloomberg as of 04 Jun 20
ตลาดหุ้นจีน A-Share (CSI 300) ค่อนข้างทรงตัวที่ -1.16% ส่วนหุ้นจีน H-Share (HSCEI Index) ปรับตัวลง – 4.78% ในเดือนพฤษภาคม ปัจจัยกดดันหลักก็คือภาวะความไม่สงบในฮ่องกงที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง เนื่องจากการประชุมสภาประชาชนจีน (NPC) ช่วงวันที่ 22-28 พฤษภาคม จีนได้เสนอกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ฮ่องกงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งการกระทำที่แสดงถึงการแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างอำนาจหรือการปกครองของรัฐบาลกลาง หรือการกระทำใด ๆ โดยกองกำลังต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซงในฮ่องกงจะถือว่าเป็นผิดกฎหมาย นอกจากนี้แล้ว ผลจากการประชุมที่เซอร์ไพรส์ตลาดก็คือการเลือกที่จะไม่ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ปี 2020 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 โดยให้เหตุผลว่า จีนกำลังเผชิญกับปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นระบาดโควิค-19 หรือสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกคือการที่จีนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการรักษาเสถียรภาพการจ้างงานโดยตั้งเป้าที่จะสร้างงานใหม่ในเขตเมืองมากกว่า 9 ล้านตำแหน่ง ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวล และ Minute จากการประชุมบ่งชี้ว่า เฟดจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มี แม้กล่าวว่าจะยังไม่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่นักลงทุนในตลาดก็มองว่ามีความเป็นไปได้อยู่ (สะท้อนผ่าน Fed Fund Futures)
Source : Bloomberg as of 05 Jun 20
Defensive Portion : (TMBPIPF, TMBGINFRA)
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยรวมทั่วโลกปรับตัวขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้ง REITs ไทยและสิงคโปร์ โดยมีปัจจัยหนุนเดียวกันกับหุ้น เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากการเริ่มเปิดเมืองมาก เป็นต้น และอีกปัจจัยหนุนสำคัญของกลุ่มนี้ก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ทาง กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.5% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และคาดการณ์ที่ว่าจะคงต่ำในลักษณะนี้ไปอีกสักระยะ ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจกลุ่ม Yield Play ที่ให้ปันผลดี
มุมมองสำหรับเดือนมิถุนายน
ในเดือนมิถุนายนคาดว่าจะยังคงเป็นอีกเดือนที่มีความผันผวนพอสมควร เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างยังคงอยู่และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความกังวลให้กับนักลงทุน สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ
- ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยล่าสุดทางสหรัฐฯ อาจยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงที่ได้สิทธิพิเศษในการงดเว้นภาษีการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การที่จีนเสนอกฎหมายให้กฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง เรามองว่าความผันผวนจากปัจจัยนี้จะเข้ามากระทบบรรยากาศการลงทุนเป็นระยะ ๆ จนถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน
- การประท้วงภายในประเทศของสหรัฐฯรวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะภาคแรงงานที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการจับจ่ายใช้สอยและสร้างความคาดหวังให้กับตลาดทุน
- การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 9-10 มิถุนายน รวมถึง โดยติดตามการส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยและแนวทางการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
- นโยบายการคลังของรัฐบาลทั่วโลก ติดตามมาตรการเพิ่มเติมของสหรัฐฯ และการโหวตร่างกฎหมายเงินช่วยเหลือขนาด 3 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “Heroes Act” ของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่น่าจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ส่วนของยุโรป ติดตามการเสนอจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Recovery Fund) มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศในการประชุม European Council Summit วันที่ 18-19 มิ.ย. ก่อนมีผลบังคับใช้
คำแนะนำการลงทุน
เรามีมุมมองการลงทุนระยะยาวในเชิงบวก แต่แนะนำลงทุนอย่างระมัดระวัง (Buy on Dip) โดยหนึ่งในความเสี่ยงตลาดที่เรายังไม่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้คือ ระดับมูลค่าของตลาดหุ้นทั่วโลก (Valuation) ปัจจุบันที่ค่อนข้างแพง ตลาดอาจเปราะบางและมีโอกาสย่อตัวในระยะสั้นได้ ดังนั้น นักลงทุนควรใช้จังหวะที่ตลาดผันผวนและปรับตัวลงในการทยอยเข้าลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดี มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นจีน ตราสารหนี้บริษัทเอกชนคุณภาพดีในประเทศพัฒนาแล้ว กลุ่ม REITs และโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมทั่วโลกมีความน่าสนใจ ทั้งนี้เรามีการปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่โดยเริ่มวันที่ 10 มิถุนายน 2563 จากเดิม Growth : Defensive อยู่ที่ 55%:45% เป็น 60%:40% เนื่องจากเรามองว่าตลาดเริ่มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจาก Policy Maker ทั่วโลก ส่งผลให้ Sentiment การลงทุนดูผ่อนคลายมากขึ้นและนักลงทุนมีการรับข่าวเชิงลบไปมากแล้ว
บลจ. ทหารไทย
สำหรับลูกค้าที่ลงทุนใน Quality Mega Theme สามารถดูพอร์ตการลงทุนได้ตามช่องทางนี้
ผ่านมือถือ/Tablet >> แอปฯ FINNOMENA
ผ่านคอมพิวเตอร์ >> เว็บไซต์ FINNOMENA
สำหรับลูกค้าที่สนใจลงทุนใน Quality Mega Theme คลิกที่นี่เพื่อสร้างแผนการลงทุน
โปรดทราบ สำหรับลูกค้าฟินโนมีนาที่ลงทุนใน FINNOMENA PORT และได้รับบทความนี้ แต่ยังไม่ได้รับอีเมลและ/หรือ Notification ในการแจ้งสัดส่วนเงินในการเข้าลงทุน อาจเกิดจาก 1) ท่านอยู่ระหว่างการทำรายการซื้อขายกองทุน ซึ่งทางฟินโนมีนาจะแจ้งเตือนอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการทำรายการซื้อขายเสร็จสิ้น หมายเหตุ หากท่านไม่ประสงค์ที่จะรอรับการแจ้งเตือน ท่านสามารถดูรายละเอียดของพอร์ตการลงทุนที่แนะนำผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของฟินโนมีนาพร้อมปรับพอร์ตเข้าลงทุนได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID: @FINNOMENAPORT |
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด หรือ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”