ข่าวหุ้นขนาดใหญ่ที่กำลังเตรียมจะ “ขายหุ้นไอพีโอ” (หุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ซึ่งประกาศออกมาช่วงนี้ ได้สร้างกระแสความสนใจให้กับนักลงทุนอย่างล้นหลาม แต่ก่อนจะกระโจนเข้าไปซื้อหุ้นไอพีโอของบริษัทต่างๆ รู้หรือไม่ว่า ถ้าไม่วางแผนให้ดี ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนสูง มีสถิติอะไรที่สะท้อนการขาดทุน? จะใช้กลยุทธ์การลงทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้นไอพีโอ?
กว่า 15 ปีที่ผ่านมา (2546–2561) หุ้นไอพีโอได้เรียงแถวเข้ามาซื้อขายทั้งในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) โกยเงินระดมทุนตั้งแต่ปีละกว่าหมื่น-แสนล้านบาท แน่นอนว่าในแง่ของบริษัท ก็ประสบความสำเร็จ ได้เงินตามเป้าหมายสำหรับการนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจด้านต่างๆ ตามจุดประสงค์ แต่ในมุมของ “นักลงทุน” อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จ ได้กำไรจากการลงทุนหุ้นไอพีโอกันทุกคน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
จังหวะเวลาซื้อ IPO ชี้ชะตาผลกำไร
โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนจะสามารถซื้อหุ้น “ไอพีโอ” ได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่
1. กรณีจองซื้อหุ้นไอพีโอก่อนเข้าตลาด
จากการรวบรวมสถิติหุ้นไอพีโอ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือ ระหว่างปี 2556–2560 พบว่า หุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายวันแรกมีโอกาสจะยืนเหนือราคาจองสูงถึง 80% และมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าราคาจองเฉลี่ย 39% ดังนั้น การจองซื้อหุ้นไอพีโอ จึงนับเป็นการลงทุนที่มีโอกาสในการทำกำไรสูงภายในช่วงเวลาสั้น ๆ
2. ซื้อหุ้นไอพีโอในตลาดเมื่อเข้ามาซื้อขายแล้ว
การลงทุนในช่วงเวลานี้ ต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้นไอพีโอแต่ละบริษัทอย่างละเอียดรอบคอบ และไม่ควรรีบเข้าลงทุนหุ้นไอพีโอ ในช่วง 1 เดือนแรกของการเริ่มเข้ามาซื้อขาย เพราะตามสถิติบ่งชี้ว่า นักลงทุนมีโอกาสขาดทุนสูงถึง 63–68% และมักมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยติดลบราว 3–4% ซึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงแรก ๆ ของการเข้ามาซื้อขายจะมีการเก็งกำไรกันสูง ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก ดังนั้นจึงควรรอให้หุ้นไอพีโอ เข้าซื้อขายผ่านไปแล้วสักระยะ เพื่อให้ราคาหุ้นในตลาดเริ่มมีเสถียรภาพ จนสะท้อนปัจจัยในเชิงพื้นฐานของธุรกิจได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการขาดทุนลงและช่วยเพิ่มผลตอบแทนเป็นบวกดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
เช็คลิสต์ 3 ข้อก่อนลงทุนหุ้น IPO
การศึกษารายละเอียดข้อมูลก่อนลงทุนหุ้นไอพีโอ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องเช็คลิสต์ให้ครบก่อนลงทุนว่า เราเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดีแล้วหรือยัง โดยควรพิจารณา ดังนี้
1. บริษัทดำเนินธุรกิจอะไร มีอนาคตหรือไม่
ทำให้เข้าใจภาพรวมของการดำเนินธุรกิจ แนวโน้มการเติบโตทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต โดยอาจประเมินได้จากภาวะอุตสาหกรรม และ วิเคราะห์ปัจจัยกดดันทั้ง 5 (Five Force Model) ได้แก่ การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ , การต่อรองของลูกค้า , สินค้าทดแทน , ช่องทางผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือ ซัพพลายเออร์ , การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจภาพรวมของธุรกิจมากขึ้นว่ามีอะไรบ้างที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจบ้าง
2.วัตถุประสงค์การระดมทุน
เช่น เพื่อใช้สำหรับการขยายกิจการ ชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ประเมินโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าได้
3. เปรียบเทียบราคาหุ้นกับมูลค่าที่เหมาะสม
หากราคาหุ้นอยู่สูงเกินมูลค่าที่เหมาะสม ถึงแม้จะเป็นกิจการที่ดีมีอนาคต แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่น่าลงทุน ควรมองหาธุรกิจที่ดีและราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมอยู่ สำหรับมูลค่าที่เหมาะสมอาจหาได้จากบทวิเคราะห์ของบรรดาโบรกเกอร์ที่ต่าง ๆ (มีค่าสูงสุด-ต่ำสุด และเฉลี่ยเท่าไร) แต่หากไม่มี อาจใช้วิธีการประเมินมูลค่าอย่างง่ายๆ ด้วยตนเอง เช่น อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (PER) หรือราคาหุ้นตามมูลค่าทางบัญชี (PBV) โดยเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่น ๆ ที่มีลักษณะธุรกิจคล้ายคลึงกัน
ตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลสำคัญ
- กรณียังไม่เริ่มเข้าซื้อขายในตลาด แนะนำให้หาข้อมูลได้จาก https://www.set.or.th/th/company/ipo/upcoming_ipo_set.html และ/หรือ http://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing / กรณีที่เข้าซื้อขายในตลาดแล้ว แนะนำ https://www.set.or.th/set/commonslookup.do?language=th&country=TH และ/หรือ http://www.settrade.com/settrade/#/home
- ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ที่ต่าง ๆ สำหรับบล.ทิสโก้ สามารถติดตามข้อมูลได้ผ่าน website: www.tiscosec.com , line: @TISCOeResearch และ facebook: TISCOeResearch
การทำการบ้าน และเข้าใจหุ้นน้องใหม่ก่อนลงทุนให้มากเพียงพอ แม้ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าจะสร้างกำไรทั้ง 100% แต่อย่างน้อยก็จะช่วยลดโอกาสการขาดทุนจากการซื้อตามกระแสอย่างไม่มีข้อมูลได้
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/