เมื่อหุ้นไทยเปลี่ยนทิศ นักลงทุนต้องทำอย่างไร ? ก่อนตัดสินใจ “ซื้อ – ถือ – ขาย” วันนี้ ลองมาทบทวนกลยุทธ์ของ Trader กับ VI ให้มั่นใจอีกครั้งไปกับเรากันดีกว่า
ช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนทิศ แน่นอนว่า แทบจะทุกคนวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ทั้ง ความเสี่ยงระดับมหภาค ความเสี่ยงระดับอุตสาหกรรม และความเสี่ยงของบริษัทที่ลงทุน
แต่! หากตลาดหุ้นเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว การวางกลยุทธ์ “ซื้อ-ถือ-ขาย” อาจต้องใช้ความรอบคอบในการตัดสินใจมากขึ้น เราจะพาคุณไปทบทวนกลยุทธ์การลงทุนกันให้แน่ใจกันอีกครั้ง
ตั้งหลักกับการลงทุนแบบ VI
เมื่อคุณตั้งใจแล้วว่า จะเป็น “นักลงทุนเน้นปัจจัยพื้นฐาน” หรือ “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investor : VI) คุณจะมองการลงทุนในหุ้นเปรียบเสมือนการลงทุนในธุรกิจ ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการ และมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นในรายบริษัท มากกว่าการคาดการณ์ภาวะตลาดโดยรวมหรือทิศทางภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ภาวะตลาดที่ผันผวนกดดันให้คุณอ่อนไหว
ทบทวนกันอีกครั้งดีกว่าว่าการตัดสินใจซื้อ – ถือ – ขาย ยังอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบนี้หรือไม่
“ซื้อ”
1. ซื้อเมื่อเห็นว่ากิจการมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ดี และมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น
วิเคราะห์งบการเงิน : ก่อนที่จะซื้อหุ้น คุณได้วิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบ่งบอกฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ด้วยตัวเลขในงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น ROE/ROA/Gross Profit Margin/Net Profit Margin/DE ratio เป็นต้น
วิเคราะห์การเติบโตของกำไร (Earnings Growth) ก่อนลงทุน คุณได้ประเมินกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของกำไรในอนาคตของบริษัทได้ เช่น การขึ้นราคาสินค้า, การลดต้นทุน, การขยายสาขา, การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ
วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive advantage) วิเคราะห์ว่าธุรกิจที่ลงทุนมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง มีความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญกิจการจะต้องไม่ถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย
2. ซื้อเมื่อพบว่าราคาหุ้นของบริษัท (Market Price) ถูกกว่า มูลค่าที่เหมาะสม (Intrinsic Value) : นักลงทุนควรประเมินมูลค่าของหุ้นตัวนั้นๆก่อนที่จะซื้อลงทุนทุกครั้ง เพราะถึงแม้หุ้นจะมีคุณภาพดีแค่ไหน แต่อาจจะเป็นการลงทุนที่แย่ได้หากซื้อมาในราคาแพงเกินไป
3. ซื้อเมื่อหุ้นตัวนั้นมี “ตัวเร่ง” ที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าสู่มูลค่าที่ควรจะเป็นได้ หุ้นที่คุณลงทุนควรมี story ที่ตลาดอาจหันมาให้ความสนใจกับหุ้นตัวนี้มากขึ้นในอนาคต เช่น กิจการมีแนวโน้มประกาศซื้อหุ้นคืน มีการประกาศควบรวมกิจการ หรือ มีการขายสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่บริษัทถือครองอยู่ ซึ่งจะเป็นการปลดล๊อคมูลค่าให้กับบริษัทได้ เป็นต้น ข้อดีของการซื้อหุ้นที่มีตัวเร่งก็คือ ช่วยให้นักลงทุน VI ไม่ต้องถือหุ้นรอนานเกินไปและเสียโอกาสในการลงทุนอื่นๆ
“ถือ”
หากภาวะตลาดโดยรวมมีความผันผวน แต่นักลงทุนตรวจสอบแล้วว่า เหตุผลที่เราตัดสินใจซื้อหุ้นในตอนแรก รวมถึงพื้นฐานของหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง นักลงทุนควรถือลงทุนระยะยาวในหุ้นนั้นๆ ต่อ ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า การถือเงินสด ก็นับเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนเพียงแค่ 1%-2% เท่านั้น นักลงทุน VI จะเลือกถือลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่มากกว่าหากประเมินแล้วว่าได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง เช่น ได้รับเงินปันผล 4%-5% ต่อปีอย่างต่อเนื่องจากหุ้น โดยที่ประเมินแล้วว่ากิจการมีโอกาสจ่ายปันผลระดับนี้ไปได้อีกยาวนาน
“ขาย”
1. ขายเมื่อราคาแพงเกินมูลค่าที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หุ้นซื้อ-ขายกันที่ PE ที่สูงกว่า อัตราการเติบโตเป็น 1.5 – 2 เท่าขึ้นไป, หุ้นมี PE สูงเกิน 50 เท่า แต่บริษัทไม่ใช่หุ้นประเภทฟื้นตัว หุ้นวัฎจักรหรือหุ้นที่มีฐานกำไรเล็กมากและมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด เป็นต้น ซึ่งความแม่นยำของประเมินมูลค่าที่เหมาะสมนี้จะขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนแต่ละคนและความเข้าใจที่นักลงทุนมีต่อกิจการนั้นๆ
2. ขายเมื่อพื้นฐานกิจการแย่ลง ยกตัวอย่างเช่น กำไรสุทธิมีการเติบโตช้าลงหรือมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง, ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเริ่มไม่เป็นที่นิยมเหมือนเดิมและบริษัทไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่น่าสนใจหรือขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ๆได้, กิจการถูก disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือ บริษัททำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ถดถอยและไม่สามารถพลิกฟื้นเพื่อสร้างการเติบโตกลับมาได้
3. ขายเมื่อเจอหุ้นตัวที่มีความน่าสนใจมากกว่า (มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงกว่า / Valuation ถูกกว่า) เพื่อเป็นการ Switching เข้าลงทุนหุ้นตัวอื่นที่มี upside มากกว่า
จะสังเกตได้ว่า เหตุผลที่นักลงทุน VI ตัดสินใจขายหุ้นนั้น จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ต้นทุนที่เราซื้อมา” ว่าเป็นเท่าไหร่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ภาวะตลาด” ว่าดีหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ “พื้นฐานของกิจการ” และ “มูลค่าที่เหมาะสม” ว่าเป็นอย่างไรมากกว่า
ทบทวนการลงทุนสไตล์เทรดเดอร์
โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนสายเทคนิคอล (Trader) จะมีความเชื่อว่าตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและความโลภ อีกทั้งข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ ได้ถูกสะท้อนอยู่ในราคาของสินทรัพย์ประเภทนั้นๆไปแล้ว ทำให้การวิเคราะห์การลงทุนให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น มูลค่าการซื้อ – ขาย (Volume) หรือตัวบ่งชี้ต่างๆ (Indicators) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตของบริษัท หรือ มูลค่าบริษัท
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ตลาดผันผวน ก็อาจทำให้นักลงทุนหวั่นไหว จนบางคนเกือบลืมนึกถึงหลักการที่วางแผนไว้ไปชั่วขณะหนึ่ง ดังนั้นลองมาย้ำเตือนกันถึงหลักการลงทุน อีกครั้งกันดีกว่า
1. Method หรือ กลยุทธ์การลงทุน
โดยการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้ามาช่วย (Technical Analysis) ซึ่งอาจแบ่งกลยุทธ์ได้ว่า:
กลยุทธ์การเข้าซื้อ นักลงทุนสไตล์นี้จะเข้าลงทุนเมื่อราคาหุ้นหรือราคาสินทรัพย์ต่างๆเกิดสัญญาณซื้อ ซึ่งอาจเกิดได้หลายรูปแบบ อาทิ แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) หรืออาจเข้าลงทุนเมื่อเกิดสัญญาณกลับตัวขึ้น (Reversal Pattern) รวมถึงเมื่อราคาปรับตัวลดลงมาสู่ระดับแนวรับ (Support) หรือระดับราคาที่เมื่อสินทรัพย์ลงทุนปรับตัวลดลงมาชนระดับราคาดังหนึ่งแล้วราคาของสินทรัพย์มักจะกลับตัวขึ้น
กลยุทธ์การถือ นักลงทุนสายเทคนิคอลจะถือสินทรัพย์ลงทุนในกรณีที่การเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ หรือเพราะระดับราคาในปัจจุบัน รวมถึงตัวบ่งชี้ต่างๆ (Indicators) ยังไม่ส่งสัญญาณให้ขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไป
กลยุทธ์การขายออก โดยส่วนมากแล้ว นักลงทุนสไตล์นี้จะขายทำกำไร (take profits) หรือขายตัดขาดทุน (Stop loss) เมื่อการเคลื่อนไหวของราคาไม่เป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจมาจากการเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง,เกิดสัญญาณกลับตัวลง (Reversal Pattern) ราคาปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวต้าน (Resistance) หรือเป็นระดับราคาที่เมื่อสินทรัพย์ลงทุนปรับตัวขึ้นมาชนแล้วที่ระดับราคาดังกล่าวราคาของสินทรัพย์มักจะปรับตัวลดลง
2.Mind หรือ จิตวิทยาการลงทุน
นักลงทุนสไตล์นี้จะต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงไม่มีอคติในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากนักลงทุนต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่เสมอ ซึ่งอาจทำให้การขึ้น – ลง ของราคาสินทรัพย์มีผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของนักลงทุนได้
3.Money Management หรือการบริหารเงินลงทุน
นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องวางแผนการลงทุนให้ดี ควรมีแผนการลงทุนล่วงหน้าก่อนการซื้อ – ขายทุกครั้ง อาทิ จะลงทุนที่ระดับราคาใด จำนวนกี่หุ้น คาดหมายกำไรเท่าไหร่ ยอมรับขาดทุนมากน้อยขนาดไหนและจะตัดขาดทุนเมื่อใด เป็นต้น
สำหรับกรอบระยะเวลาการลงทุนของนักลงทุนสไตล์นี้นักลงทุนจำนวนมากเชื่อว่านักลงทุนสายเทคนิคอล ต้องเป็นนักลงทุนระยะสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกรอบระยะเวลาการลงทุนไม่ได้ถูกจำกัดไว้แต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับความชำนาญของนักลงทุนแต่ละราย บ้างอาจเป็นนักลงทุนระยะสั้น บ้างอาจเป็นนักลงทุนระยะยาว และสำหรับนักลงทุนสไตล์นี้ ไม่มีระดับราคาใดที่ “แพง” หรือ “ถูก” เกินไป มีแต่ระดับราคาที่คาดว่าจะปรับตัว “ออกข้าง”, “เพิ่มขึ้น” หรือ “ลดลง”
ทั้งหมดนี้ เราต้องการจะย้ำให้คุณมั่นใจอีกครั้งว่า คุณกำลังวางแผนการลงทุนได้อย่างถูกต้อง ตามสไตล์ Trader – VI เมื่อตลาดหุ้นเปลี่ยนทิศ จะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
—–
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscoadvisory/