วัคซีนโควิดสูตรคนไทย...อีกก้าวสำคัญด้าน Biotech

บทความโดย : นรุตม์ สีแสงสุวรรณชัย CFP® ธนาคารทิสโก้

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่าประเทศไทย สามารถคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งได้มีการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัคร เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว …แน่นอนว่า นี่คืออีกก้าวสำคัญของประเทศไทยด้านนวัตกรรมการแพทย์ และยังถือเป็นจุดสำคัญที่เราอยากจะเน้นย้ำกับคุณว่า ถึงเวลาที่ต้องลงลึกกับธุรกิจ Biotechnology แล้ว

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก “ไบโอเทคโนโลยี” (Biotechnology) หรือ เทคโนโลยีชีวภาพ มาก่อน ก็ขอสรุปให้ฟังกันสั้น ๆ ก่อนว่า “ไบโอเทคโนโลยี”  ก็คือเทคโนโลยี ที่นำเอาความรู้ในด้านต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต ชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต ผลผลิตของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านการแพทย์ ฯลฯ

และในยุคที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดนี้ “ไบโอเทคโนโลยี” ก็มีบทบาทอย่างมากในด้านการแพทย์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับไวรัส

ChulaCov19 วัคซีนโควิดสูตรคนไทย

การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ที่ว่านี้ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เช่น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย

โดยวัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด)

ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (Spike Protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

โดยที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ได้ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1ให้กับอาสาสมัครในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก

Biotechnology ในประเทศไทย พัฒนามาถึงจุดนี้แล้ว อยากรู้ไหมว่าแนวโน้มการเติบโตในระดับโลกเป็นอย่างไรบ้าง ???

ส่องธุรกิจ Biotechnology – ยากำเนิดใหม่ของโลก

Biotechnology เป็นธุรกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากมูลค่าตลาด (Market size) ทั่วโลก ในปี 2015  ซึ่งอยู่ที่ 330.3 billion จนมาถึงในปี 2020 market size ของ Biotechnology ทั่วโลก ขยับตัวมาอยู่ที่ 752.88 billion โดยคาดว่าจะเติบโต 15.83% CAGR ตั้งแต่ปี 2021-2028

ทั้งนี้การเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการวิจัยพัฒนาและผลิตตัวยาใหม่ ๆ ที่ได้สร้างความหวังให้กับการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น จนสะท้อนไปยังมูลค่าของบริษัทในที่สุด โดยยกตัวอย่างยา ที่น่าสนใจคือ

ยา Aducanumab : ใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ผลิตโดย บริษัท Biogen พึ่งได้รับการอนุมัติจาก FDA เมื่อวัน วันที่ 7 มิ.ย. 2021 ซึ่งถือเป็น ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ชนิดใหม่ล่าสุดของโลก หลังจากไม่มีการอนุมัติยาใหม่ ๆ ในการรักษาโรคนี้มานานเกือบ 20 ปี

วัคซีนป้องกัน COVID-19 แบบเม็ด : ที่กำลังทำการวิจัยและทดลองอยู่ในปัจจุบัน โดย บริษัท Vaxart Biotechnology ซึ่งทาง บริษัท Vaxart ตั้งใจที่จะให้บริโภควัคซีนป้องกัน COVID-19 ปีละ 1 เม็ดเปรียบเสมือนการทานวิตามินขนาดทั่วไปแทนการฉีดวัคซีน แต่ยาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและจะเข้าสู่เฟส 2 ในฤดูร้อนปีนี้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังหวังว่าจะได้รับการใช้วัคซีนชนิดเม็ดนี้แบบฉุกเฉินภายใน 1 ปี อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ เชื่อว่าธุรกิจ Biotechnology จะเติบโตอย่างเร็วจากเทคโนโลยี ที่พัฒนาล้ำสมัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงลดการผิดพลาดได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนของการรักษาให้ถูกลง นำไปสู่การเข้าถึงของคนจำนวนมากได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผนวกกับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ในด้านการวิจัยและผลิตยาที่รักษาโรคหายากและโรคร้ายแรงที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงการควบรวมกิจการ (M&A) ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กับ Biotechnology ในอนาคตให้ยิ่งขยายตัวได้อย่างโดดเด่นขึ้น

TISCO Advisory

ที่มา : https://www.tiscowealth.com/article/ChulaCov19.html

TSF2024