ไขปริศนาหุ้นไทย งบดีทำไมราคาดิ่ง?

เกิดอะไรขึ้น? ทำไมบริษัทที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส2/2561 ออกมาดีมาก แต่ราคาร่วงจนน่าแปลกใจ?

ตามปกติแล้ว เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศงบไตรมาส 2/2561 เป็นฤดูกาลที่มีนักลงทุนเข้ามาซื้อขายหุ้นอย่างคึกคัก โดยเฉพาะจะมีการเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการจะออกมาดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ กลับไม่เหมือนกับทุกครั้ง เพราะตลาดหุ้นยังคงมีทิศทางที่ไม่สดใส อีกทั้งบางบริษัทที่ประกาศผลประกอบการออกมาดี ยังถูกเทขายจนราคาปรับตัวลดลงอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร? บล.ทิสโก้ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น

แกะรอยประเด็นต้องสงสัย

1. สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลง

ในปี 2562 สภาพคล่องโลกที่เคยมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินของธนาคารกลางหลายแห่ง ซึ่งดำเนินการติดต่อกันมาอย่างยาวนานเกือบ 9 ปี เริ่มมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น “ตลาดหุ้น” ที่ถือเป็นแหล่งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทหนึ่ง ก็มักจะตอบสนองกับประเด็นนี้รุนแรงที่สุด โดยแม้จะมีปัจจัยบวกด้านอัตราการเติบโตของกำไร (Earning Growth) หรือ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เข้ามาสนับสนุน ก็ยังไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ เปลี่ยนแปลงไปได้มากนัก

“เรื่อง Earning Growth หรือ GDP ไม่เกี่ยวเลย เหมือนในปี 2008–2009 ซึ่งตอนนั้นเราเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (World Recession) โดยจะเห็นได้ว่าหลังจาก Hamburger Crisis ตัวเลข GDP ติดลบกันทั้งโลก จนนักเศรษฐศาสตร์บอกว่าอย่าซื้อหุ้น แต่หุ้นกลับวิ่งขึ้นกันอุตลุตทั้งโลก รวมทั้งหุ้นไทยด้วย ตอนนั้นเราก็งงๆ ทั้งที่บริษัทกำลังจะแย่ทำไมหุ้นขึ้นเอาๆ นั่นก็เป็นเพราะสภาพคล่องที่อัดเข้ามานั่นเอง ดังนั้นเมื่อสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จึงมีผลต่อสินทรัพย์เสี่ยงมากที่สุด ถ้าลดลงก็จะมีผลต่อสินทรัพย์เสี่ยงมากที่สุด ดังนั้นอย่าไปมองแค่เศรษฐกิจ และ Earning Growth อย่าไปโฟกัสอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นจะพลาด”

2. นักลงทุนต่างชาติขายต่อเนื่อง

นี่เป็นปีแรกในรอบหลายปี ที่นักลงทุนต่างชาติขายต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งต่างไปจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่มักจะมีการซื้อและขายสลับกัน กระทั่งแม้จะเป็นปีที่มีการปฏิวัติก็ยังไม่เคย เหตุการณ์ขายในลักษณะนี้ จึงถือเป็นประเด็นที่น่ากลัว แสดงถึงเจตนารมณ์บางอย่างด้านการลงทุน อย่างไรก็ตามปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไทย ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 9 ปี ดังนั้นไตรมาส 3 จึงน่าจะมีการขายต่อ แต่น่าจะเป็นสัดส่วนที่ลดลง

3. “กลยุทธ์ป้องกันเงินต้น” ที่ก่อตัวจากความกังวล

จากความกังวลทั้งในเรื่อง “สภาพคล่องทั่วโลก” ที่มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวลดลง และประเด็น “แรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ” ทำให้นักลงทุนเกิดความเป็นห่วงสถานการณ์ลงทุนในระยะข้างหน้า จึงได้พยายามใช้วิธีการขายทำกำไรหุ้นในพอร์ตออกก่อน ทั้งนี้คาดว่าแรงเทขายในลักษณะดังกล่าวจะยังมีไปจนถึงปี 2562 เพราะอาจจะมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงการขาดทุน

“ตอนนี้คนไม่ได้อิงปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ (Fundamental) หุ้นตัวไหนขึ้นมาแล้วพื้นฐานดี ก็โดนขายทิ้ง เพราะตอนนี้คนเริ่มกังวลสถานการณ์ลงทุนในปีหน้า จึงเกิดอาการขายเพื่อล็อคกำไร ดังนั้นหุ้นที่เราแนะนำ จึงควรจะเป็นหุ้นที่ตกมาเยอะและเพิ่งจะปรับตัวขึ้น ไม่ใช่หุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปเยอะแต่ตกน้อย เพราะพวกหุ้นประเภทหลังนี้ส่วนใหญ่จะไปไม่รอด เนื่องจากตอนนี้มีการใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Capital Protection Strategy คือ กลยุทธ์ป้องกันเงินต้น และคาดว่าปีหน้าก็จะมีการใช้กลยุทธ์นี้ เพราะคนก็พยายามที่จะทำให้เงินต้นไม่ขาดทุน”

จับทิศดัชนีครึ่งหลังปี’ 61

สำหรับในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) คาดว่าตลาดหุ้นน่าจะแกว่งตัวเพื่อสร้างฐาน (Consolidate Bottom) ซึ่งจะทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ (New Low) ได้ไม่มาก แต่ก็จะแกว่งตัวขึ้นในกรอบจำกัดเช่นกัน โดยประมาณการจุดต่ำสุดที่ 1,585–1,540 จุด ส่วนการดีดกลับ คาดว่าจะไม่เกิน 1,700 จุด หรืออาจปรับตัวขึ้นไปที่ 1,690 / 1,680 จุด หลังจากนั้น ก็อาจปรับตัวลดลง

ส่วนไตรมาส4 (ต.ค-ธ.ค.) คาดว่าดัชนีมีโอกาสจะแกว่งตัวขึ้นในกรอบแคบ (Sideway up) โดยมีเป้าหมายปลายปีที่ 1,750 จุด ทั้งนี้ทิศทางของดัชนีจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไร ควรติดตามสัญญานทางเทคนิค ดังนี้

  • ดัชนีทะยานเหนือ 1,700 จุด ในกรณีนี้ หากดัชนีปรับตัวไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆผ่านระดับ 1,650 จุด ระดับ 1,690จุด จนทะลุต่อไปได้ถึง 1,700 จุด หลังจากนั้นดัชนีก็จะแกว่งตัวออกด้านข้าง (Sideway)
  • ไม่ผ่าน 1,650 จุด หากดัชนีไม่ผ่านระดับ 1,650 จุด จะเกิดอาการ Sideway และทำจุดต่ำสุดใหม่ (New low) เพราะถือว่าเป็นการปรับตัวขึ้นมาน้อยเกินไป ซึ่งเหมือนอาการคนไม่มีแรง ที่ไม่สามารถทำให้ยืนต่อได้

“ถ้าถามว่า มีโอกาสมั้ยที่ดัชนีจะทะลุเลย ต้องบอกว่ามี แต่น้อย เพราะต้องบอกว่าไม่มีอะไรที่ 100% ผมจึงพยายามคาดการณ์ตลาดให้”

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/