ใครที่ตอนนี้กำลังวางแผนจัดการภาษีในปี 2562 ส่วนใหญ่ก็คงใช้วิธีซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันสุขภาพ
เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทันทีแล้ว การลงทุนใน LTF และ RMF ยังช่วยสร้างความมั่งคั่งผ่านการลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ เพราะมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพช่วยบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด
ส่วนประกันสุขภาพเอง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจะช่วยปกป้องความมั่งคั่งและช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเจ็บป่วยอีกด้วย
สำหรับคนที่ตั้งใจว่าจะใช้เงินลงทุนจาก LTF – RMF เป็นแหล่งรายได้หลักในช่วงหลังเกษียณ
คุณ “ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้” แนะนำว่า เมื่อถึงเวลาที่ใกล้จะเกษียณแล้ว (อายุประมาณ 50 ต้นๆ) ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่า “ความเสี่ยง” ของพอร์ต LTF เมื่อนำมารวมกับ RMF ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ “รับได้” อยู่หรือไม่
เพราะต้องยอมรับว่า เมื่อใกล้เกษียณ ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ “ความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมอยู่ในระดับที่ต่ำลง” เพื่อให้สามารถวางแผนบริหารจัดการใช้เงินสะสมที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น “คุณป็อบ” พนักงานบริษัทเอกชน วัย 52 ปี ที่ผ่านมาเคยลงทุนทั้งใน LTF และ RMF ที่มีนโยบายลงทุน “หุ้นไทย” เพราะทบทวนแล้วว่า ตนเองต้องการผลตอบแทนที่สูง สามารถรับความเสี่ยงสูงได้ และมีระยะเวลาลงทุนยาวนานเพียงพอ …อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณป็อบมีอายุที่มากขึ้น อีกไม่กี่ปีจะเกษียณแล้ว ก็อาจจะต้องมองหาแนวทางปรับเปลี่ยนการลงทุนของตัวเองให้มีความเสี่ยงที่ต่ำลง เช่น เลือก RMF ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตร และตราสารหนี้ให้มากขึ้น เป็นต้น
หลังจากที่มีข่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่การลงทุนใน LTF จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท นักลงทุนก็เริ่มกังวลว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV) อาจลดลงจากการขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนที่ครบกำหนดตามเงื่อนไข
แต่ในความเป็นจริงแล้วราคา NAV จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนที่ครบกำหนดเงื่อนไข เพราะยังคงบริหารจัดการโดยผู้จัดการมืออาชีพอยู่
ซึ่งสาเหตุที่ราคา NAV ของ LTF อาจจะไม่ได้รับผลกระทบหากนักลงทุนขายหน่วยลงทุนออกมา เพราะปัจจุบันกองทุน LTF ขนาดใหญ่หลายกองทุน ได้กระจายเงินลงทุนไปในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ละแห่ง คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของมูลค่ากองทุน
และบจ.เหล่านั้นล้วนเป็นบริษัทชั้นนำ ที่มีสภาพคล่องสูงอย่างมาก ดังนั้นหากมีการขายหน่วยลงทุน ก็น่าจะมีนักลงทุนในตลาดเข้าซื้อหุ้น จนทำให้ราคาโดยรวม ไม่ได้ปรับตัวลดลงมากอย่างที่คิด
การซื้อประกันสุขภาพ
นอกจากจะสามารถนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาทแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการปกป้องความมั่งคั่ง และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงประเภทต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก
โดยจะเห็นได้จากสถิติผู้ป่วย “โรคมะเร็ง” ในประเทศไทย ซึ่งจะพบได้ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี เสียชีวิตวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย ขณะที่ค่ารักษาโรคมะเร็งนั้น ก็สูงตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อคน ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ดังนั้น ปัจจุบันบริษัทประกันแต่ละแห่ง จึงมีผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำก็คือ ควรเลือกซื้อประกันสุขภาพที่มีการ “การันตีต่ออายุ” ที่ช่วยลดความเสี่ยงในภาพระยะยาว เพราะถ้าเราเลือกซื้อประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองสูง แต่ไม่มีการการันตีการต่ออายุ เมื่อเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรงก็มักจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้น และยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ประกันสุขภาพตัวนั้นอาจจะคุ้มครองเราแค่เพียงในครั้งแรก แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าบริษัทประกันจะต่ออายุกรมธรรม์ให้กับเราในปีถัดไป
การที่จะไปทำประกันสุขภาพใหม่ก็มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากเรามีประวัติสุขภาพที่ไม่ดีและจะส่งผลเสียต่อฐานะการเงินของเราหากเราเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรงอีกในอนาคต
TISCO Advisory
ติดตาม TISCO Advisory ได้ที่ https://www.facebook.com/