เศรษฐกิจตอนนี้เริ่มชะลอตัว หุ้นก็เสี่ยงเกินไป ดอกเบี้ยก็ต่ำติดดิน …วางกลยุทธ์อย่างไรดี ที่น่าจะเวิร์ค? โจทย์นี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ความจริงแล้ว ก็มีโอกาสที่จะทำได้
ภาพรวมการลงทุนตอนนี้ มีปัจจัยลบที่นักลงทุนเป็นห่วงอยู่ 3 ประเด็นหลัก ๆ นั่นก็คือ
1. เศรษฐกิจชะลอตัว : เห็นได้จากเศรษฐกิจไทย ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยประเมินว่าในปี 2562 นี้ จะเติบโตเพียง 2.9%
2. ผลตอบแทนตราสารหนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง : โดยพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า 1% และมากกว่า 70% ของพันธบัตรทั้งหมดให้ผลตอบแทนติดลบหากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ
3. ภาวะดอกเบี้ยต่ำ : ผลจากความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอ ทำให้คาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยทั่วโลกจะยังอยู่ในทิศทางขาลงต่อไป ขณะที่ในฝั่งของประเทศไทยเองนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไปตลอดปี 2562 นี้ จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน
….ดังนั้นภายใต้ปัจจัยลบที่มีทั้งหมดนี้ จึงทำให้ผลตอบแทนของตราสารความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลฯ รวมถึง อัตราผลตอบแทนจากเงินฝากประจำ อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก (ดูภาพประกอบ)
ที่มา : ThaiBMA , BoT data of Sep 2019
กลยุทธ์ลงทุนแบบ“เครื่องดื่มอัดลมไร้น้ำตาล”
หากกลับมาที่โจทย์เดิม ก็คือ….ภายใต้ความเสี่ยงเยอะขนาดนี้ ถ้าไม่กล้าลงทุนหุ้น แต่อยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่า “เงินฝาก” และ “ตราสารหนี้” จะทำอย่างไร?
ในภาวะแบบนี้ แนะนำให้นักลงทุนบริหารเงินลงทุน ด้วยการจัดสรรเงินสำหรับลงทุนใน “หุ้นกู้เอกชน” ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดี มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ควบคู่ไปกับการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) ที่มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่ดี มีผลการดำเนินงานดีและสม่ำเสมอ
ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ ในภาวะดอกเบี้ยโลกที่มีทิศทางเป็นขาลง อีกทั้งหากเป็นกองทุนอสังหาฯในประเทศ ก็จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลด้วย (แนะนำให้เน้นลงทุนในกองทุนรวมอสังหาฯ ที่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือ “Freehold” เป็นหลัก)
อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คือ กลยุทธ์แบบนี้ ก็เหมือนกับ “เครื่องดื่มอัดลมไร้น้ำตาล” ซึ่งปรับลดส่วนที่จะส่งผลต่อสุขภาพออก แต่ยังคงมีความสดชื่นแบบที่ต้องการนั่นเอง
—
ที่มาบทความ : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน