ต้องทำอย่างไร เมื่อผิดเงื่อนไขลงทุน LTF-RMF ?

สำหรับคนที่วางแผนระยะยาวโดยเฉพาะเพื่อการเกษียณ แทบจะทุกคนคงรู้จักกองทุนฝาแฝด อย่าง “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” และ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นอย่างดีแล้ว แต่ถ้าวันหนึ่ง หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างเช่น ซื้อกองทุนเกินสิทธิ ขายคืนก่อนครบกำหนด หรือผิดเงื่อนไขการลงทุนอื่นๆ จะต้องจัดการอย่างไร?

คงต้องเล่ากันก่อนคร่าวๆ ว่า “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” หรือ LTF (Long Term Equity Fund) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF (Retirement Mutual Fund) นั้น ตามปกติแล้วจะมีจุดเด่นตรงที่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ เพียงแต่ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดของกองทุนแต่ละประเภท จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

โดยเงื่อนไขการลงทุนของ LTF ก็คือ…

ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนใน LTF ไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและต้องไม่เกิน 500,000 แสนบาทต่อปี นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะต้องถือครองกองทุน LTF ดังกล่าวไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน โดย LTF จะไม่มีเงื่อนไขที่บังคับให้ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และ สามารถนับเงินแต่ละก้อนที่ลงทุนแยกกันได้

ส่วนเงื่อนไขการลงทุนใน RMF จะมีความซับซ้อนกว่า LTF

กล่าวคือ ยอดเงินลงทุนที่จะนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและต้องไม่เกิน 500,000 แสนบาทต่อปี โดยจะต้องนับรวมกับเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

  1. ลงทุนใน RMF ต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนมากกว่า 1 ปี ติดต่อกัน (ยกเว้นปีใดที่ไม่มีเงินได้ ก็ไม่ต้องลงทุน)
  3. ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนและถือครองหน่วยลงทุน RMF จนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และจะต้องมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก (การนับ 5 ปี ให้นับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีอายุการลงทุนในปีนั้น)
  4. เงินลงทุนขั้นต่ำจะต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท หรือ 3% ของเงินได้พึงประเมินในแต่ละปี (แล้วแต่ว่าจำนวนไหนจะต่ำกว่า)

นอกจากนั้น หากผู้ลงทุนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ผู้ลงทุนจะยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ “กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital gain)” อีกด้วย

3 รูปแบบการทำผิดเงื่อนไข

การลงทุนในกองทุนแฝดมีข้อดีหลายเรื่อง แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ การทำผิดเงื่อนไขโดยสามารถแบ่งได้หลายกรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ซื้อเกินสิทธิ

ผู้ลงทุนจะต้องนำ Capital gain ที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF และ RMF (นับเฉพาะส่วนที่ลงทุนเกิน) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีที่ 2 ขายคืน LTF ก่อนครบกำหนด 7 ปีปฏิทิน (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน)

ผู้ลงทุนจะต้องคืนภาษีที่ได้รับการยกเว้นไป พร้อมจ่ายเงินคืนเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ลงทุนขอยกเว้นภาษีจนถึงเดือนที่ผู้ลงทุนทราบว่าตนได้ทำผิดเงื่อนไขการลงทุน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะต้องนำ Capital gain ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกด้วย

กรณีที่ 3 ผิดเงื่อนไข RMF

ซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนขั้นต่ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด, ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปี, ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์หรือลงทุนไม่ครบ 5 ปีเต็ม (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน) ข้อปฏิบัติสำหรับนักลงทุนที่ทำผิดเงื่อนไข สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีดังนี้

1. กรณีลงทุนไม่ถึง 5 ปี และผิดเงื่อนไข : ผู้ลงทุนจะต้องคืนภาษีทั้งหมดที่ได้รับการยกเว้นมา โดย Capital gain จากการขายคืนหน่วยลงทุน ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี (ในกรณีนี้ทาง บลจ. จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเบื้องต้นไว้ก่อน 3% ของ Capital gain)

2. กรณีลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปและผิดเงื่อนไข : ผู้ลงทุนจะต้องคืนภาษีได้รับยกเว้น 5 ปีย้อนหลัง โดย Capital gain จากการขายคืนหน่วยลงทุน ไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษี

นอกจากนี้ หากผู้ลงทุนที่ทำผิดเงื่อนไขจ่ายคืนภาษีล่าช้า จะต้องจ่ายคืนเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน โดยคิดตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ถัดจากปีที่ขายผิดเงื่อนไขการลงทุนนั้นด้วย

จะเห็นได้ว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากการขาย LTF และ RMF ก่อนกำหนดหรือการทำผิดเงื่อนไขจะมีด้วยกันหลายประการ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนกองทุน LTF และ RMF ให้เข้าใจ อีกทั้งควรวางแผนการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) อย่างรอบคอบ เลือกลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังในระยะยาว

ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนมอง LTF และ RMF เป็นเงินแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างวินัยในการลงทุนและแนะนำให้ถือหน่วยลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี รวมทั้งลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำผิดเงื่อนไขในระหว่างที่ลงทุน และช่วยให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากกองทุนทั้งสองประเภทอีกด้วย

สนใจกองทุน LTF-RMF ค้นหาเพิ่มเติมที่  https://bit.ly/2Mor3Gk

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/

TSF2024