ความจริงที่ต้องรู้ กับปัญหาการเงินของคนอายุยืน

ความสุขที่ได้รับจากคนรอบข้าง ความสนุกในการท่องเที่ยว ได้ทำกิจกรรมที่รักหลังจากทำงานหนักมากกว่าครึ่งชีวิต สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนตั้งความหวังว่า จะมีชีวิตยืนยาวเพื่อต้อนรับความสุข แต่…ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคุณไม่ได้รู้ความจริงในอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตหลังเกษียณ

รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ได้เริ่มเข้าสู่ยุคของ “สังคมผู้สูงวัย” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นผลจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และการที่อายุคนเรายืนยาวขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยในปี 2016 อยู่ที่ 75 ปี ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจาก 55 ปีในช่วงปี 1960 และในอนาคตอายุเฉลี่ยของประชากรก็ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจากข้อมูลที่อธิบายทั้งหมดนี้ จึงสะท้อนว่าชีวิตหลังเกษียณของคนไทยมีโอกาสที่จะอายุยืนยาวขึ้น มีเวลาที่จะทำตามความฝัน ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง…. แต่เดี๋ยวก่อน คุณรู้แล้วหรือยังว่าหากจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขตามไลฟ์สไตล์ที่ใฝ่ฝัน ก็จะเป็นจะต้องมีเงินเพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณสูงขึ้นด้วย!

ต้นทุนชีวิตหลังเกษียณ

การเกษียณเป็นเรื่องที่น่ายินดี หากคุณเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า และมีเงินออมมากพอเมื่อเทียบกับรายจ่าย กับไลฟ์สไตล์ที่สร้างความสุข แต่ถ้าไม่ใช่คุณจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

ภาระการออมเงินที่สูงขึ้น

โดยหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นการออมช้า ก็ยิ่งต้องสะสมเงินออมต่อเดือนที่มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตที่ยืนยาว และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สภาพของตลาดทุนที่เปลี่ยนไป

ซึ่งอาจส่งผลให้ผลตอบแทนคาดหวังลดต่ำลง นั่นหมายถึงภาระที่เพิ่มสูงขึ้นอีก สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหานี้อาจทำได้โดยการทำงานให้หนักขึ้น เกษียณอายุให้ช้าลง เพื่อที่จะทำให้รายได้สูงขึ้นและออมได้มากขึ้น หรืออีกทางเลือกนึงที่แนะนำคือการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณแต่เนิ่น ๆ

จัดพอร์ตลงทุนเพิ่มทางออกวัยเกษียณ

การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณนั้น ควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายและออกแบบแผนทางการเงินเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เช่นเราอาจกำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการรักษามาตรฐานการใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตไว้ โดยจะต้องมีเงินใช้จ่ายประมาณ 50%-70% ของรายได้ปีสุดท้าย ในส่วนของการวางแผนนั้นเราต้องพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ให้รอบคอบด้วย เช่น ระยะเวลาทำงานที่เหลือ, เงินออมต่อปี, ความเสี่ยงของการลงทุน, อัตราเงินเฟ้อ, อายุคาดเฉลี่ยและกรณีที่อายุยืนกว่าที่คาด

ถัดมาในส่วนของการวางแผนการลงทุนนั้นเราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงควบคู่ไปกับเป้าหมายด้วย โดยปกติของการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับการเกษียณนั้น เราควรจะต้องมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ตราสารทุนในประเทศ,ตราสารทุนต่างประเทศ, REITs, สินค้าโภคภัณฑ์, และตราสารหนี้ ความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนควรจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับอายุของผู้ลงทุน โดยเมื่ออายุของผู้ลงทุนเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (ตราสารทุน) จะลดลงในขณะที่สัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ประจำ (ตราสารหนี้, REITs) และสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น (REITs, ตราสารหนี้ที่อ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ เช่นพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ)

จะเห็นได้ว่าการวางแผนการเกษียณนั้นมีรายละเอียด และความซับซ้อนค่อนข้างสูง นอกจากแผนการลงทุนที่วางไว้ให้มีการปรับสัดส่วนการลงทุนเมื่ออายุเพิ่มขึ้นแล้ว เรายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่นความเสี่ยงของตลาดทุน ความเสี่ยงด้านอารมณ์และพฤติกรรม ความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงเรื่องอายุยืนกว่าที่คาด การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นเราควรจะทบทวนแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ปรับพอร์ตการลงทุนให้ตรงกับแผนการลงทุนที่วางไว้ และหมั่นหาความรู้เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ลงทุนเห็นว่าการวางแผนการเกษียณเป็นเรื่องยากหรือมีเวลาไม่เพียงพอ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวางแผนทางการเงินก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/