ปี 2023 เศรษฐกิจโลกกำลังจะต้องเผชิญความท้าทายที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2022 ที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายประเทศ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ REITs รวมถึงทองคำปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ยังตามมาด้วยความเสี่ยงที่เศรษฐกิจหลายประเทศในปี 2023 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยเฉพาะเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของราคาสินทรัพย์ตลอดปี 2022 ก็ช่วยให้ระดับ Valuation ลดลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งหมายถึงโอกาสสำคัญที่จะได้ลงทุนในช่วงที่ตลาดติดป้ายลดราคารอบใหญ่ เพียงแต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกอย่างรอบคอบ
ภายใต้บรรยากาศที่เล่ามาทั้งหมด นักลงทุนน่าจะเริ่มมีคำถามแล้วว่า “ธีมลงทุนไหนล่ะ ที่น่าซื้อ???”
ธนาคารทิสโก้ ประเมินว่า ยังมีบริษัทจดทะเบียนบางประเทศ และบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาไม่แพง กำไรเติบโตสูงสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จึงแนะนำให้กระจายการลงทุนไปยัง 3 ธีมการลงทุนดาวเด่น ดังนี้
1. High Potential Country
ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจในหลายประเทศมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession จะส่งผลกระทบไปยังการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งในแง่ของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ถูกปรับลดประมาณการณ์ลงและการปรับลด Valuation ของนักลงทุนเพื่อสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้น ตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มจะ Outperform จะต้องเป็นตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการขยายตัวของ GDP อยู่ในระดับที่สูง มีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นที่แข็งแกร่ง และที่สำคัญคือ มี Valuation ที่ถูกมากเพียงพอเพื่อที่จะทำให้เกิด Margin of Safety ในการลงทุน โดยธนาคารทิสโก้แนะนำ
- China: IMF คาดการณ์ว่า ปี 2023 เศรษฐกิจจีนจะกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและมีอัตราการเติบโตของ GDP ในระดับ 4.4% โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ (Reopening) การผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงมาซื้อขายที่ Forward PE เพียง 11 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี ในขณะที่ EPS Growth เติบโตได้สูงถึง 17.3% YoY โดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบตลาดอื่น ๆ
- Vietnam: เวียดนามถือเป็นประเทศที่ IMF คาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตของ GDP ที่ 6.2% นับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่น ๆ โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย China+1 และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนถึง 10% ของ GDP
และปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนจากค่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Forward PE) ที่ระดับ 8.56 เท่า ในขณะที่กำไรต่อหุ้นมีแนวโน้มเติบได้สูงถึง 13.2% YoY สวนทางกับตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ ที่มีการเติบโตของผลประกอบการที่ชะลอตัวลง
2. High Demand Sector
การเลือกอุตสาหกรรมที่หุ้นจะ Outperform ตลาดได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ควรเน้นลงทุนในกลุ่มที่สินค้าและบริการที่มีความต้องการใช้งานอยู่ในระดับสูง และเติบโตตามกระแสการเปลี่ยนแปลงหลัก (Megatrends) ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรของธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยธนาคารทิสโก้เลือก
กลุ่ม Healthcare เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากสังคมผู้สูงอายุและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายทางด้านการแพทย์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2023 นอกจากนี้ธุรกิจการแพทย์ยังมีจุดแข็งในเรื่องผลประกอบการที่มีความสม่ำเสมอ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ และเติบโตอย่างแข็งแกร่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทุกครั้ง อีกทั้งบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมยังมีอำนาจในการปรับราคาสินค้าขึ้นตามเงินเฟ้อ (Pricing Power) อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Biotechnology และ กลุ่ม Health Care Equipment & Services ซึ่งมีอัตราการเติบโตของกำไรในช่วง Recession เฉลี่ยสูงถึง 11% และ 7% ตามลำดับ
กลุ่ม Technology ธุรกิจ Software & Services ถือเป็นหุ้นกลุ่ม Technology ที่มีการเติบโตของกำไรที่สม่ำเสมอตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้ในช่วง Recession เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีรายได้ประจำ (Recurring Income) เป็นสัดส่วนที่สูงจากการ Subscription ของฐานลูกค้าเดิมที่ใช้งานประจำ และยังมีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของฐานลูกค้าใหม่ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Cloud Computing และ Cybersecurity ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตตามเทรนด์ของ Digital Transformation ที่องค์กรทั่วโลกมีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว
กลุ่ม Utilities & Infrastructure ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นสินค้ามีความจำเป็นและมี Demand ที่สม่ำเสมอ ไม่แกว่งตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากภาวะขาดแคลนพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ปรับนโยบายหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็น Net Zero Carbon ในระยะยาว
3. High Stability
ธนาคารทิสโก้มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับพอร์ตการลงทุนอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นมาทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2023 และมีแนวโน้มที่จะกลับมาลดลงในปี 2024 รวมถึงทองคำที่มักจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูง
- Bond: จากข้อมูลในช่วงปี 1984 ถึงปี 2018 มีการเกิด Recession ทั้งหมด 6 ครั้ง เราพบว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
- Gold: จากสถิติย้อนหลัง 30 ปีนับตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2022 พบว่า มี 18 ปีที่อัตราเงินเฟ้อ (CPI) สูงเกินระดับ 2% และใน 18 ปีนี้ มีถึง 13 ปีที่ทองคำสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ โดยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่สูงถึง 10.12% หรือคิดเป็น 72% ของจำนวนปีทั้งหมด นอกจากนี้ ทองคำยังให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยราว 5.72% ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน
แม้ในปี 2023 จะยังมีความท้าทายรออยู่ แต่หากเลือกธีมลงทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ก็ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนโตสวนภาวะตลาดได้
TISCO Advisory
ที่มาบทความ: https://link.tisco.co.th/20g3Vh