ยุคเงินเฟ้อ สู้ด้วยกองทุนรวมแบบไหนดี ?!?!

ภาวะเงินเฟ้อ กำลังทำให้หลายประเทศเผชิญปัญหาสินค้าราคาแพง แถมยังกดดันให้มีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก สถานการณ์แบบนี้ ควรมีกองทุนแบบไหนในพอร์ต ???

เงินเฟ้อหรือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น เป็นสิ่งที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ มาจากหลายประเด็นทั้งในด้าน “การบริโภคสินค้าทั่วโลก” ที่พุ่งขึ้น เนื่องจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วง Lockdown ทำให้มีการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น เพื่อชดเชยการใช้จ่ายด้านบริการ เช่น การท่องเที่ยว การรับประทานอาหารนอกบ้าน ที่ลดลงในช่วงดังกล่าว

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น การแจกเงินและให้สวัสดิการว่างงานในช่วง Lockdown มากเป็นพิเศษ ซึ่งเข้ามาช่วยหนุนความต้องการบริโภคให้ขยายตัวแข็งแกร่ง จนเกินความสามารถในการผลิตและทำให้เงินเฟ้อ พุ่งขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

ยังไม่จบแค่นี้ ประเด็น ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านสินค้าก็เป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อเช่นกัน เพราะผลกระทบจาก COVID -19 ได้ทำให้เกิดการปิดโรงงานชั่วคราว การจำกัดการเดินทาง รวมถึงยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ตลาดแรงงานที่มีจำนวนแรงงานลดลง ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการผลิตไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เท่ากับก่อนโควิด

ด้วยประเด็นทั้งหมดนี้เอง จึงจะทำให้ เงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปตลอดทั้งปี 2022… แล้วแบบนี้ ควรจะลงทุนกองทุนแบบไหน ที่จะสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ ?!?

สู้ด้วย กองทุน Metaverse : เติบโตสูง ความต้องการใช้มาแรง 

ถ้าเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าเงินลดลง ก็ลงทุนในธุรกิจ Metaverse ที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าเงินเฟ้อดูไหม?” ประเด็นนี้ “คุณวรสินี เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)” ได้อธิบายว่า สาเหตุที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse จะมีโอกาสเติบโตสูง เป็นเพราะพฤติกรรมของคนทั้งปัจจุบัน และอนาคต จะมีความเกี่ยวพันธ์กับโลกดิจิทัลแทบทุกด้าน จึงอาจทำให้หลายธุรกิจที่เป็น “ความต้องการ” ในตอนนี้ อาจกลายเป็นความ “จำเป็น” ในอนาคตแบบหลีกเลี่ยงได้ยาก

การวิจัยของ Mckinsey & Company ก็สะท้อนว่า มีความต้องการใช้งาน Metaverse เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยพบว่า ผู้เข้าร่วมการสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องการให้นายจ้างใช้แบบจำลองการทำงานเสมือนไฮบริด (a hybrid virtual-working model) ในช่วงหลังโควิด โดย Metaverse จะเป็นวิธีการที่ทำให้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งจะมีการพัฒนาและเติบโตไปในอนาคต1

ยุคเงินเฟ้อ สู้ด้วยกองทุนรวมแบบไหนดี ?!?!

สอดคล้องกับคาดการณ์ของ PwC ที่ระบุว่า Metaverse จะมีอัตราการเติบโตในระดับสูง โดยในปี 2565 ประมาณการว่าจะมีมูลค่าตลาดที่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2568 จะมีมูลค่าตลาดที่ระดับ 476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว และระยะยาวไปจนถึงปี 2573 มูลค่าของตลาดนี้จะอยู่ที่ราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2

ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าว จึงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse มีโอกาสจะให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

โดยกลุ่มกองทุนธุรกิจดาวเด่นในธีม Metaverse ที่ธนาคารทิสโก้เลือก เพื่อให้ต่อสู้กับเงินเฟ้อ มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. Metaverse ecosystem กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse หลากหลายรูปแบบ 2. Cyber Security กองทุนที่เน้นลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ 3. Cloud Computing กองทุนที่เน้นลงทุนธุรกิจเบื้องหลังความสำเร็จของ Metaverse ประกอบด้วย Software as a Service, Platform as a Service, Infrastructure as a Service

สู้ด้วย กองทุนประเทศดาวเด่น : ก้าวข้ามปัญหาเงินเฟ้อ

เลือกเฉพาะประเทศที่ไม่ติดหล่มปัญหาเงินเฟ้อ และตลาดหุ้นเติบโตสูง ตอนนี้มีหลายประเทศที่นอกจากจะไม่มีปัญหาด้านเงินเฟ้อแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเติบโตดี และบางประเทศยังสามารถใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย

“คุณวรสินี” อธิบายว่า ประเทศดาวเด่นที่ภาพรวมเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนต่อสู้กับเงินเฟ้อได้นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. หุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Markets : DM) แนะนำ ตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นเพราะมักจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกและสูงกว่าของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินเฟ้อในยุโรปและญี่ปุ่น ยังอยู่ต่ำกว่าในสหรัฐฯ และต่ำกว่าแนวโน้ม 2% ทำให้ภาครัฐยังมีความยืดหยุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า รวมถึงราคาหุ้น (Valuation) ของตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น ยังถูกกว่าของสหรัฐอเมริกา ค่อนข้างมากอีกด้วย
  2. หุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) แนะนำ ตลาดหุ้นจีนที่อาจ Outperform ตลาดหุ้นกลุ่ม EM หลังจากธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้กลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างชัดเจน และน่าจะยังคงนโยบายต่อเนื่องในปี 2022 นอกจากนี้ตลาดหุ้นจีนก็ดูจะตอบรับต่อประเด็นการเพิ่มกฎระเบียบไปค่อนข้างมากแล้ว ทำให้การออกกฎระเบียบเพิ่มเติมอาจกลับกลายเป็นข่าวดีที่จะ สร้างความชัดเจนให้กับตลาดในระยะข้างหน้าอีกด้วย3

ตลาดหุ้นเวียดนามดาวรุ่งหมัดเด็ด นอกจากจะน่าสนใจในเรื่องอัตราการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่ยังอยู่ในระดับสูงแล้ว ราคาหุ้นก็ถือว่าดึงดูด เห็นได้จากอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) อยู่ที่ 13.8 เท่า และอัตราการเติบโตของกำไร (Earning Growth) อยู่ที่ 15.4%4

ไม่เพียงเท่านี้ ในเรื่องของเงินเฟ้อ ธนาคารกลางเวียดนาม ก็ได้ออกมาแถลงการณ์อย่างชัดเจนว่า ปี 2565 จะใช้นโยบายการเงิน โดยมุ่งเน้นที่การควบคุมระดับเงินเฟ้อ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำให้อุ่นใจได้ว่า เวียดนามให้ความสำคัญกับประเด็นนี้5

สู้ด้วย กองทุนแบรนด์ระดับโลก : สินค้าที่ทรงพลัง และเป็นที่ต้องการ

แบรนด์ระดับโลกคือธุรกิจที่แข็งแกร่ง หลายแบรนด์มีส่วนแบ่งการตลาดสูง มีงบการเงินที่ดี และมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรในระดับสูง ซึ่งในภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น ผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการสินค้า และบริการของแบรนด์เหล่านี้

“คุณวรสินี” อธิบายว่า แบรนด์ระดับโลก ที่น่าสนใจ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. หุ้นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก (Global Brand) ซึ่งมีความสามารถในการกำหนดราคามากกว่าธุรกิจทั่วไป เช่น Hermes ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องหนัง น้ำหอมและแฟชั่น ของฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งแบรนด์สินค้าลักษณะนี้ แม้จะมีราคาสูง หรือ ปรับขึ้นราคา ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
  2.  หุ้นเติบโต (Upcoming Brands) เป็นกลุ่มที่มีโอกาสสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เป็นสินค้าและบริการด้านนวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และกำลังกินส่วนแบ่งทางการตลาดจากแบรนด์ขนาดใหญ่ เช่น PROYA ผู้นำแบรนด์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสัญชาติจีน ที่เข้ามาครองใจผู้บริโภคแดนมังกรได้อย่างรวดเร็ว
  3. หุ้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล (Digital Brands) ยกตัวอย่างเช่น ADOBE บริษัท Software  ซึ่งเดิมทำธุรกิจขายโปรแกรมในรูปแบบธรรมดา ก่อนที่จะพลิกการทำธุรกิจครั้งสำคัญในปี 2011 มาเป็นการให้บริการในรูปแบบ Cloud ทำให้รายได้ที่มาจากการการสมัครสมาชิก (Subscription) สร้างการเติบโตให้กับบริษัท อย่างก้าวกระโดด6

ถึงตอนนี้ คุณพอจะได้คำตอบหรือยังว่า จะสู้เงินเฟ้อด้วยกองทุนแบบไหนดี ?

======================================

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Mckinsey & Company, Reimaagine Work, as of April 2021
  2. PwC (Metaverse marketsize)
  3. TISCO Investment Portfolio Strategy (TIPS : Outlook 2022 January-February)
  4. Bloomberg (as of 30 Nov 2021)
  5. เวียดนามแถลงนโยบายการเงินปี 65 เน้นคุมเงินเฟ้อ-หนุนการฟื้นตัว ศก. (MGR Online : https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000128528)
  6. “รายได้ที่มาจากการการสมัครสมาชิก” (Adobe 2021 financial analyst meeting slides)”, www.adobe.com/investor-relations.html

TISCO Advisory

ที่มาบทความ: https://www.tiscowealth.com/article/investment-advisory/funds-against-inflation.html

TSF2024