“อายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ดี?” … “ต๊ะ” นักวางแผนการเงินหนุ่ม อ่านกระทู้เด็ดจากเพจดัง แล้วหันไปคุยกับเพื่อนในทีม “นายว่า เราพิมพ์ตอบกระทู้นี้ดีไหม?”
นักวางแผนการลงทุนหนุ่มเลื่อนอ่านคอมเมนต์ต่างๆ พลางออกเสียงตาม “ผมอายุ 25 มี 20 ล้านแล้ว” “ไม่ต้องซีเรียสหรอก ใช้ชีวิตให้เต็มที่ เก็บเงินเยอะแยะ พรุ่งนี้อาจไม่ได้ใช้ก็ได้!!!” “กระทู้ดัก คนอวดรวยป๊ะเนี่ย” ฯลฯ
“ยังนั่งอ่านกระทู้อยู่อีกเหรอ?” นักการเงินหนุ่มอีกคนถาม
“เฮ้ยบอส!! มันน่าสนใจนะ ดักรึเปล่าไม่รู้ แต่ถ้ามีคนอยากรู้จริงๆ เขาก็น่าจะได้คำตอบดีๆ นะ” ต๊ะกล่าว
“โอ้โห เป็นคนดี๊ดีอ่ะ งั้นซ้อมตอบก่อนซิ ว่าจะพิมพ์ยังไงบ้าง?” บอสยักคิ้ว พร้อมขยับหลอดกาแฟ
ถ้ามีคนถามว่า “บอกเลยชัดๆ เป๊ะๆ ได้มั้ย ว่าอายุประมาณไหนต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่?”
นักวางแผนการลงทุนหนุ่มหัวเราะ แล้วตอบว่า “ไม่ด้ายยยยย….คือ โดยทั่วไปแล้วอ่ะนะ การที่จะตอบคำถามนี้ด้วยตัวเลขจำนวนใดจำนวนหนึ่งแบบนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว การจะมีเงินเก็บเท่าไหร่ จะต้องเอาปัจจัยหลายอย่างมาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น รายได้ ค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่อยู่อาศัย พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงค่านิยมของแต่ละบุคคลด้วย
ดังนั้น เอาแบบนี้… ขอพูดถึงหลักการแบบกว้างๆ เพื่อช่วยบริหารจัดการให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นดีกว่า ซึ่งถ้าโฟกัสกันแบบนี้ก็ทำได้หลายแนวทาง อย่างเช่น การออมเงินเผื่อฉุกเฉินไว้ราว 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน และ การใช้สมการเงินออม แบบนี้
“รายได้ – เงินออม = รายจ่าย”
สมการนี้ จะช่วยให้การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะมีการหัก “เงินออม” ออกมาก่อนที่จะใช้จ่ายแต่ละเดือน… ไม่ใช่ว่า ใช้จ่ายก่อน ถ้าเหลือ จึงจะมีเงินเก็บ
อ่อๆ นายว่าเราจะตอบเสริมแบบนี้ด้วยดีมั้ยว่า.. นอกจากเรื่องของการออมที่เล่ามาแล้วเนี่ย การจะมีเงินเหลือเท่าไหร่ในแต่ละช่วงอายุนั้น ยังมีอีก “3 ปัจจัย” ที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินออมด้วย ซึ่งกรณีนี้จะอธิบายสำหรับคนที่นำเงินออมที่ออมได้ไปลงทุนต่อ …โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าเงินประกอบด้วย
1. เงินต้น
2. ระยะเวลาในการลงทุน
3. ผลตอบแทน
โดยส่วนประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ จะส่งผลอย่างมากต่อมูลค่าเงินออมและเงินลงทุนในอนาคต โดยสมมุติว่านาย A อายุ 25 ปี ได้เงินเดือน 20,000 บาท/เดือน เงินเดือนขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี มีการหักรายได้ 10% เพื่อนำไปลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทุกปี และได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 7% ต่อปี ซึ่งในช่วงอายุต่างๆควรจะมีเงินเก็บ ในส่วนที่เป็นเงินลงทุนดังนี้
a. อายุ 30 ปี จะมีเงินราว 200,000 บาท
b. อายุ 40 ปี จะมีเงินราว 1,000,000 บาท
c. อายุ 50 ปี จะมีเงินราว 3,500,000 บาท
d. อายุ 60 ปี จะมีเงินราว 8,400,000 บาท
ถ้าสมการเป็นแบบนี้ ณ อายุ 60 ปี นาย A จะมีเงินเก็บรวมทั้งสิ้น 8.4 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินต้นที่หักจากรายได้ไปลงทุนทุกปีเป็นระยะเวลา 35 ปี ราว 3.3 ล้านบาท และจะมีกำไรจากการลงทุนถึงเกือบ 5.1 ล้านบาท
ซึ่งตัวเลขทั้งหมดที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ไม่ต้องสับสนวุ่นวายใจกับมันมากนัก เพราะเป้าหมายหลักจริงๆ ก็คือ อยากจะชี้ให้เห็นว่า “การกันรายได้ของเราออกมาเพียงแค่ 10% ของเงินเดือน และนำมาลงทุนต่อ ก็สามารถทำให้เงินของเรางอกเงยได้อย่างมากแล้ว”
แล้วถ้ามีคอมเมนต์อีกล่ะว่า “ง่ายไป! แค่ออมทุกเดือนแล้วรวย เศรษฐีก็เต็มประเทศสิ!!”
ฮ่าๆๆๆ อินเนอร์ล้วนๆ เลยอ่ะ ขอบใจที่ช่วยคิดนะ …คือ เราก็คงพิมพ์บอกเขาไปอ่ะว่า ช่ายยยย…มันไม่ง่ายจริงๆ เพราะนอกจากประเด็นที่ว่า “อายุเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่?” แล้วอ่ะนะ หลายๆ คนมองข้ามเรื่องๆ นึงไปจริงๆ นั่นก็คือ “การวางแผนเพื่อรักษาความมั่งคั่งที่เราได้สะสมมา”
ลองคิดดูนะว่า ถ้าเราหรือคนในครอบครัวต้องป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนหลายล้านบาทในการรักษา เงินที่เราได้เก็บสะสมมาทั้งหมดจะลดลงขนาดไหน หรือๆๆๆ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเราหรือคนในครอบครัว ฐานะทางการเงินและอนาคตของเราจะเป็นยังไง ต่อให้มีเงินเก็บหลักล้านก็อาจจะสะดุ้งสะเทือนเหมือนกันนะ เรื่องพวกนี้ สำคัญไม่แพ้คำถามที่ว่า “อายุเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่?” เลยล่ะ
ดังนั้น ตัวช่วยรักษาความมั่งคั่งที่น่าสนใจให้กับชีวิตก็คือ การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากเหตุไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของเราได้เป็นอย่างดี
ขอวกมาเรื่องการลงทุนอีกนิด ถ้ามีคนคอมเมนต์ถามว่า “ขอคำแนะนำการลงทุนที่ได้กำไรเยอะๆ เร็วๆ ได้ไหม?” จะตอบยังไง?
นักวางแผนการลงทุนหนุ่มมองหน้าเพื่อน เออ…เนอะ คำถามนี้ต้องมีแน่ อันนี้ก็ต้องตอบว่า…ในโลกของการลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ก็มักต้องแลกมาด้วยความผันผวนที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ ผลตอบแทนที่คาดหวังได้ก็จะต่ำเช่นกัน
ดังนั้น เราจะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดว่าเราต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ รับความผันผวนเหล่านั้นได้มาก-น้อยแค่ไหนและมีกรอบระยะเวลาในการลงทุนนานเท่าไหร่ ปัจจัยพวกนี้จะนำไปสู่ทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา
หากเราเป็นคนที่มีระยะเวลาในการลงทุนยาวนานพอก่อนเกษียณ เช่น 5-10 ปีขึ้นไป คาดหวังผลตอบแทนที่สูงและสามารถรับความผันผวนได้ สินทรัพย์ที่เหมาะกับเราก็คือ หุ้น, กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หากเราเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้น้อยหรือมีกรอบระยะเวลาการลงทุนไม่ยาวนาน เช่น ต่ำกว่า 1 – 3 ปี ผลตอบแทนที่คาดหวังก็ควรจะลดต่ำลงมา ดังนั้น สินทรัพย์ที่เหมาะกับเราก็คือ ตราสารหนี้, หุ้นกู้ รวมถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายเน้นลงทุนในสินทรัพย์ข้างต้นที่ได้กล่าวไป
ส่วนการลงทุนฮิตๆ ใน “Forex” และ “Cryptocurrency” ที่พูดถึงกันมากนั้น ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับสำหรับการลงทุนสินทรัพย์เหล่านี้ ดังนั้น ถ้าจะลงทุนผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนไว้ด้วยตัวเอง ก็ต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนพวกนี้ไปก่อน
และก็เหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจก่อนการตัดสินใจลงทุนมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเลือกแนวทางการลงทุนแบบไหน ดังนั้น เมื่อเราสามารถประเมินตนเองได้แล้ว ก็ควรเริ่มศึกษาและวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับตัวเรา เพื่อที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ในระยะยาว…แบบนี้พอได้มั้ยอ่ะ
“อืม…พอได้” บอสคอมเมนต์
“นี่คือ พูดให้กำลังใจรึเปล่า” ต๊ะถาม
เสียงดูดกาแฟแบบรวดเดียวหมดแก้วดังขึ้น …พร้อมกับคำพูดทิ้งท้ายว่า “ดูออกเลยเหรอ?”
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/