สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน กลายเป็นประเด็นร้อนเขย่าตลาดหุ้น และกดดันหลายกองทุนรวมทั่วโลก ซึ่งจังหวะแบบนี้เป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญ ที่จะได้กองทุนดีในราคาไม่แพงเข้าพอร์ต เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้นที่รออยู่ … แต่ กองทุนที่ “รอรับได้เลย” ในสถานการณ์แบบนี้จะมี Theme ไหนบ้าง?
ย้อนเหตุการณ์ไป หลังจากวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีคำสั่งให้ทหารปฏิบัติการพิเศษในยูเครน หรือ “คำสั่งบุกยูเครน” เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นรัสเซีย และตลาดหุ้นหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ดิ่งลงรับข่าวทันที1
แน่นอนว่ากองทุนรวมหลายกอง ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักลงทุนต่างก็อยู่ในภาวะหวาดวิตก เนื่องจากสงครามในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “ราคาน้ำมัน”
นั่นก็เป็นเพราะรัสเซีย เป็นประเทศที่มีปริมาณการผลิตน้ำมันระดับสูง โดยมีข้อมูลว่าในปี 2563 รัสเซียผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก ราว 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ 4.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 11% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
ไม่เพียงเท่านี้ในด้าน “ก๊าซธรรมชาติ” รัสเซียก็ถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญของตลาดโลก โดยในปี 2563 มีการผลิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ 6.39 แสนล้านลูกบาศก์เมตร และมีการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณที่สูงถึง 2.38 แสนล้านลูกบาศก์เมตร2
ดังนั้นนั้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงทำให้ราคาพลังงาน ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงผล กระทบเชื่อมโยง ที่จะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจของโลกพุ่งขึ้น กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เงินเฟ้อ มีความน่ากังวลยิ่งขึ้นไปอีก
ยังไม่รวมถึงประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นประเด็นที่มผลต่อการลงทุนทั้งสิ้น
ด้วยปัจจัยลบที่เข้ามารุมเร้า จึงอาจทำให้กองทุนรวมทั่วโลกปรับตัวลดลงในระยะสั้น แต่ก็เป็นจังหวะ ที่สามารถทยอยสะสมได้ ซึ่งในเดือนมี.ค. ทางธนาคารทิสโก้ ได้คัดเลือกธีมที่น่าสนใจ และกองทุนจากหลากหลายค่าย เพื่อต่อสู้กับประเด็นเหล่านี้แล้ว
Future trend of technology : ธุรกิจเทคโนโลยีแห่งอนาคต โตชนะเงินเฟ้อ
“ไม่ว่าโลกจะสะดุดด้วยข่าวลบแบบไหน แต่ธุรกิจกลุ่ม Future trend of technology จะขยายตัวต่อเนื่อง” คุณวรสินี เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่าธีม Future trend of technology ซึ่งประกอบไปด้วยหลากหลายธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจประมวลผลข้อมูล 2. ธุรกิจผู้ให้บริการเชื่อมต่อแบบ real time 3. ธุรกิจVirtual Platforms 4. ธุรกิจที่สร้างเครื่องมือให้ผู้คนทำงานร่วมกัน 5. ธุรกิจผู้ให้บริการชำระเงินดิจิทัล และสกุลเงินดิจิทัล 6. ธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดเก็บ ป้องกันป้องกันความปลอดภัยสินทรัพย์ดิจิทัล และ 7. ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เข้าถึงเทคโนโลยี และโลก Metaverse นั้น
ได้มีการประมาณการว่า กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ จะผลักดันให้ขนาดของตลาด Metaverse มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคำว่า “เติบโตต่อเนื่อง” แม้ฟังดูแล้วเหมือนคำทั่วไป ที่ดูไม่ตื่นเต้นเท่าไรนัก แต่หากเจาะลึกลงไปในเชิงตัวเลข ก็จะน่าสนใจทันที
เพราะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 ขนาดของตลาด Metaverse ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายธุรกิจ จะมีมูลค่าถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ3 และมีการประมาณการว่า รายได้ของกลุ่มธุรกิจ Virtual world จะมีมูลค่าถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 25644
ธนาคารทิสโก้ จึงคัดเลือกธุรกิจในธีม Future trend of technology ที่โดดเด่นไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. Metaverse ecosystem กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse หลากหลายรูปแบบ 2. Cyber Security กองทุนที่เน้นลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ 3. Cloud Computing กองทุนที่เน้นลงทุนธุรกิจเบื้องหลังความสำเร็จของ Metaverse ประกอบด้วย Software as a Service, Platform as a Service, Infrastructure as a Service ซึ่งสามารถทยอยซื้อได้ หากราคาปรับตัวลดลง
ประเทศที่เงินเฟ้อไม่สูง : ดำเนินนโยบายผ่อนคลายได้ดี โตมีเสถียรภาพ5
“รอรับได้เลย ถ้าเป็นประเทศกลุ่มเด่นที่เงินเฟ้อไม่สูง สามารถดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปได้ และยังเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ” โดยประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่
1. ประเทศจีน : มีความน่าสนใจตรงที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ จึงเปิดช่องให้ธนาคารกลางจีนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับลด RRR ตามที่ได้เห็นธนาคารกลางจีนเริ่มทำในช่วงต้นปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนที่คาดว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.8%
2. ประเทศเวียดนาม : มีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึง 6.6% และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อย โดยมีอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.94%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงจากระดับ 6% ในปี 2563 มาสู่ 4% ในปี 2565 คิดเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 3 ครั้งด้วยกัน
และที่น่าสนใจคือ ทั้งประเทศจีนและเวียดนาม นอกจากจะไม่ได้อยู่ในช่วงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ยังสามารถดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว : รอบการขึ้นดอกเบี้ยช้า และมัก Perform ดีช่วงสหรัฐฯ ดอกเบี้ยขาขึ้น
“ยุโรปและญี่ปุ่น มีรอบการขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าสหรัฐอเมริกา และมัก Perform ดีช่วงสหรัฐอเมริกาดอกเบี้ยขาขึ้น” ไล่เรียงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือ ประเด็น “รอบการขึ้นดอกเบี้ย” จะพบได้ว่า ทั้งยุโรป และญี่ปุ่นมีรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงหมายความว่าเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดการลงทุนของยุโรป และญี่ปุ่นก็จะยังคงมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลดีต่อการลงทุน
นอกจากนี้ ยุโรปและญี่ปุ่น ยังมีความน่าสนใจในแง่ของ “เศรษฐกิจที่เติบโตดี” โดยเป็นผลมาจากการที่ยังคงสามารถใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า การเติบโตของยุโรปอยู่ที่ 3.9% และญี่ปุ่นเติบโต 3.3%5
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ตามสถิติจะพบได้ว่า ยุโรป และ ญี่ปุ่นมัก Perform ดีในช่วงที่สหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยอีกด้วย6
อย่างไรก็ตามในด้านความกังวลจากประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีต่อ “ยุโรป” ซึ่งหลายคนอาจกังวลอยู่นั้น ในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าส่งออกและนำเข้ากับรัสเซียคิดเป็นเพียง 1% ของจีดีพี เท่านั้น
แบรนด์ระดับโลก : กำหนดราคาได้สูง ครองใจลูกค้า โตดีแม้เศรษฐกิจผันผวน
“ธุรกิจแบรนด์ระดับโลก เติบโตดีแม้เศรษฐกิจผันผวน” แม้กลุ่มแบรนด์ระดับโลกจะไม่ได้เป็น ธุรกิจที่ปรับตัวขึ้นได้แบบฉับพลันในช่วงที่ตลาดฟื้น แต่เนื่องจากความน่าสนใจในเรื่องค่าความผันผวนที่ค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตได้ดี แม้จะเป็นช่วงที่โลกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการสินค้า และบริการของแบรนด์เหล่านี้
จึงทำให้หลายแบรนด์ระดับโลกมีงบการเงินที่ดี มีแนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรในระดับสูง และยังเป็นธุรกิจที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน ฟังเพลงอย่าง Spotify ซึ่งในปี 2558 Spotify มีผู้ใช้งานเพียง 77 ล้านคนเท่านั้น แต่ล่าสุดในปี 2564 ยอดผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่365 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตถึง 374% ในระยะเวลา 6 ปี7
ธนาคารทิสโก้ จึงแนะนำให้เลือกกองทุนรวม ที่มีนโยบายกระจายการลงทุนในแบรนด์ระดับโลกหลากหลายหมวดหมู่ เพื่อช่วยฝ่าปัจจัยลบ ทั้งเงินเฟ้อ การเมืองระหว่างประเทศ ความผันผวนจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และข่าวลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งหมดนี้ เป็น Theme ของกองทุนรวมในเดือนมี.ค. ที่ธนาคารทิสโก้ คัดเลือกให้กับนักลงทุนที่กำลังมองหากองทุนเด่นราคาไม่แพง และมีแนวโน้มเติบโตสูง เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้นที่รออยู่
==================
ที่มา
- หุ้นร่วง น้ำมันขึ้น ทองผันผวน: ผลจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนหลังคำสั่งให้ทหารบุกของปูติน , Brand Inside , 24/02/2022 (https://brandinside.asia/russia-special-military-operation-in-ukraine-cause-of-surge-price-of-oil-and-gold-but-stocks-fall/)
- สมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน” ส่งผลอย่างไรกับ “ราคาพลังงาน” และเศรษฐกิจโลก ?, กรุงเทพธุรกิจ, 19/02/2022 (https://www.bangkokbiznews.com/business/989161)
- The Metaverse growth, 2020-2024, Bloomberg (www.bloomberg.com)
- Virtual Worlds Revenue Growth, Blooomberg Intelligence data as of 04/07/2021, Ark Invest data as of 01/26/2021
- “ธ.ทิสโก้ชี้หุ้นใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว แนะช้อนซื้อหุ้นประเทศเด่น และ 2 กลุ่มธุรกิจ สู้เงินเฟ้อ”, ข่าวประชาสัมพันธ์ (https://www.tisco.co.th/th/news/personal/2020-03-01-tisco-recommends-buy-2-business-groups-to-fight-inflation.html)
- “European & Japanese equities outperformed in past tightening cycles while EM stocks sold off as USD strengthened”, Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (ESU)
- “Spotify User”, Business of Apps (https://www.businessofapps.com/data/spotify-statistics/)
- TISCO Advisory
ที่มาบทความ: https://www.tiscowealth.com/article/investment-advisory/buy-the-dip-funds-against-inflation.html