เลือกประกันสุขภาพ-โรคร้ายทั้งที ต้องถาม 3 เรื่องนี้

ปกติแล้ว เวลาคุณอยู่ระหว่างเลือกซื้อประกัน คุณจะถามตัวแทนขาย หรือเพื่อนที่มีความรู้ ถึงวิธีเลือกประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรงต่างๆ ว่าอะไรบ้าง? ลองมาดูกันไหมว่า คำถามของคุณเจาะลึกไปถึงประเด็นเหล่านี้หรือยัง ?

เคยถามก่อนซื้อประกันฯไหมว่า : ค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังอายุ 60 ปี ต้องจ่ายเท่าไหร่ ? 

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังอายุ 60 ปี มักจะถูกปรับขึ้นในอัตราก้าวกระโดด !!

จากการสำรวจแบบประกันสุขภาพทั่วไปในตลาด พบว่า เบี้ยประกันสุขภาพในช่วงอายุ 55 – 80 ปี ของแต่ละกรมธรรม์ มีความแตกต่างกันอย่างมาก

สมมติว่า ถ้าคุณต้องการกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองราว 3 ล้านบาทต่อปี

▪ กรมธรรม์ A อาจจะมีค่าเบี้ยประกันรวมในช่วงหลังเกษียณประมาณ 1.7 ล้านบาท

▪ กรมธรรม์ B มีค่าเบี้ยรวมในช่วงหลังเกษียณสูงถึง 5 ล้านบาท

ดังนั้นถ้าคุณเลือกกรมธรรม์ B ก็อาจต้องจ่ายค่าเบี้ยหลังเกษียณสูงกว่ากรมธรรม์ A ถึง 294%  ทั้งที่สองกรมธรรม์นี้ ให้ความคุ้มครองเท่ากัน

สรุปก็คือ ก่อนซื้อประกันสุขภาพ ควรศึกษาให้ดีว่า กรมธรรม์ที่เลือก มีค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายแต่ละปีหลังอายุ 60 ปี ในอัตราก้าวกระโดดหรือสูงเกินไป ซึ่งนี่จะเป็นส่วนช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินสำหรับวัยเกษียณได้ตามที่คาดหวัง

เคยถามก่อนซื้อประกันฯไหมว่า : เคลมบ่อย บริษัทประกันมีสิทธิ์ปฏิเสธการต่ออายุได้ไหม? 

คำตอบคือ  ได้ค่ะ! เพราะในสัญญากรมธรรม์  ไม่มีข้อผูกพันว่าบริษัทฯ จะต้องต่ออายุสัญญาฯให้กับผู้ทำประกันแบบต่อเนื่อง

ส่วนความเชื่อที่ว่า  “ถ้าเคลมบ่อย แล้วไม่อยากโดนปฏิเสธการต่ออายุ จะต้องทำประกันสุขภาพแบบพ่วงกับประกันชีวิต”   ก็เป็นความเข้าใจที่ผิดนะคะ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว การทำประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นแบบที่ทำพ่วงกับประกันชีวิต หรือ ทำประกันสุขภาพอย่างเดียว บริษัทรับประกันมีสิทธิพิจารณาการต่ออายุ ตามหลักเกณฑ์ของบริษัทได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพกับที่ไหน อย่าลืมตรวจสอบให้ดี ว่าประกันสุขภาพที่คุณเลือก มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงอื่น ที่จะทำให้คุณมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลในระยะยาว นะคะ

เคยถามก่อนซื้อประกันฯไหมว่า : ถ้าเป็นโรคร้ายแรงหลายโรค จะเคลมพร้อมกันได้หรือเปล่า ?  

คำตอบก็คือ “ได้ค่ะ” ! แต่บริษัทรับประกันจะจ่ายให้แบบไหน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแบบประกัน

ยกตัวอย่างเช่น …

▪ บางที่จะจ่ายเคลมให้อีกโรค ก็ต่อมื่อเป็นระยะรุนแรงมากเท่านั้น

▪ บางที่จะจ่ายก็ต่อเมื่อโรคแรกกับโรคที่สองต้องมีระยะเวลาห่างกัน เช่น มีการกำหนดเงื่อนไขว่า โรคแรก กับโรคที่สอง ต้องมีระยะห่างกันตั้งแต่ 90 วัน หรือ บางแห่งอาจกำหนดระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น

ซึ่งในความเป็นจริง หากเกิดโรคร้ายแรงขึ้น คุณก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทันที  ไม่สามารถรอได้ ตามเงื่อนไขแบบนั้น ดังนั้นถ้าจะเลือกประกันที่คุ้มครองโรคร้ายแรง อย่าลืมดูเงื่อนไขเรื่องการเคลมโรคร้ายแรงครั้งที่ 2 3 4 ด้วยว่ามีเงื่อนไขที่เราไม่ได้อ่านหรือไม่ 

แนะนำว่า ก่อนตัดสินใจซื้อประกันโรคร้ายแรง ต้องดูให้ครบว่า กรมธรรม์นั้น…

1. “แยกวงเงินความคุ้มครอง” เป็นรายกลุ่มโรคหรือไม่

2. “จ่ายเงินค่าเคลม” เมื่อเป็นโรคระยะแรก

3. “ระยะเวลาเคลม” ระหว่างโรคแรก และโรคถัดไปไม่นาน

เราอาจมีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงพร้อมกันหลายโรคก็ได้ ใครจะรู้ นี่น่าจะถึงเวลาที่ควรต้องเปลี่ยนวิธีการเลือกให้รอบคอบขึ้นแล้ว ดังนั้นอย่าลืม!! ตั้งคำถามนี้ และตรวจสอบก่อนซื้อให้ละเอียดขึ้นนะคะ

TISCO Advisory

ที่มา : https://www.tisco.co.th/th/advisory/2020-11-26-3-questions-before-choose-insurance0.html

TSF2024