คนไทยเรามีนิสัยรักสนุกครับ เพราะเราอยู่บนแผ่นดินทอง ระหว่างรอข้าวออกรวง เราก็สร้างสรรค์ คิดกิจกรรมรื่นเริงทำกันได้ตลอดทั้งปี มีเรื่องให้ลุ้นกันสนุกได้ทุกครึ่งเดือน สะท้อนให้เห็นเช่นกัน ในตลาดหุ้นไทยเราที่มีสัดส่วนการลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยมากกว่าครึ่ง ประกอบด้วยปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างคึกคักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเรานั้น หากมองแบบผ่านๆ ย่อมคิดได้ว่า ประเทศไทยน่าจะมีการตื่นตัวด้านการลงทุนของนักลงทุนรายบุคคลอย่างดี มีสังคมการลงทุนที่อุดมสมบูรณ์ แต่หากสังเกตดีๆ การแทงหวยมันมีความเหมือนและต่างกับการลงทุนในหุ้นอย่างน่าประหลาด อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่จึงยังไม่ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนในหุ้นสักที
ความเหมือน ถ้าแทงถูกเลข หรือซื้อหุ้น(ปั่น)ถูกตัว ได้เงินค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับเงินต้น ได้เงินเร็วแทบทันที แถมมีอาการ “เสพย์ติด” ตื่นเต้นกับการลุ้นและร่วมวงเสวนากับชาวคณะปรับทุกข์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากโดนรวบหมดกอง โดยลงท้ายด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่า วันนี้ดวงไม่ดี
ความต่าง แทงหวย ฝันเอาได้ กลับเลข บวกหนึ่งบวกสอง แล้วถามเพื่อน หรือเด็กเดินโพยก็ได้ แต่เลือกหุ้นไม่สามารถฝันเอาได้ การขึ้นและลงของราคาเกิดจากผลประกอบการของบริษัทฯ และปัจจัยของอุปสงค์/อุปทานในตลาดล้วนๆ ไม่มีเครื่องรางของขลัง
แต่ถามว่านักลงทุนรายย่อยรู้เรื่องเหล่านี้ไหม ต้องบอกว่าส่วนใหญ่รู้ ถึงขั้นรู้ดี แต่ปรับพฤติกรรมไม่ได้ เพราะทางเลือกการสร้างผลตอบแทน โดยสอดคล้องกับพฤติกรรมรักสนุกของเรา มันน้อยเหลือเกิน อยากให้ลองดูจากแผนภาพทางเลือกการลงทุนอื่นๆ จะเห็นว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงสุดเช่นกัน (และต้องใช้ความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์มากที่สุด) ดังนั้น การที่เงินเราออกจากออมทรัพย์มาแล้วเลือกเพียงไม่หวยก็หุ้น เปรียบเหมือน เดินเข้าฟิตเนสครั้งแรก ก็ไปยกน้ำหนักอันใหญ่สุดเลย
แน่นอนว่า ย่อมนักลงทุนแบบ Hardcore คือ ขยัน มีเวลา และรับความเสี่ยงได้มาก เหมือนคนที่เข้าฟิตเนส ยกตุ้มน้ำหนักทุกวันย่อมไปได้เร็วกว่าและ “มีโอกาส” สร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า จากการทำงานหนัก แต่ไม่ได้แปลว่าคนไม่มีเวลาจะลงทุนไม่สำเร็จ แค่ต้องเลือกลงทุนในประเภทสินทรัพย์ที่เหมาะกับตนเองให้ได้ก่อน
งั้นเรามาฝึกตัวเอง ค่อยๆ ไล่จากตุ้มน้ำหนักอันเล็กหรืออันกลางก่อนดีไหม
การเพิ่มความเสี่ยงตามผลตอบแทนคาดหวังโดยสอดคล้องกับเวลาที่มีให้กับการลงทุน
ในส่วนผลตอบแทน ลองพิจารณาช่วงผลตอบแทนจากแผนภาพ และจินตนาการว่า เราจะได้รับผลประมาณเท่านี้ (%) ต่อปี ไปเรื่อยๆในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ไหวไหม น้อยไปหรือมากไป สอดคล้องกับเป้าหมายการเงินของเราหรือไม่
ส่วนของความเสี่ยง หลักการง่ายๆ สำหรับตัดสินใจเบื้องต้นของการลงทุนระยะกลางถึงยาวคือ รวมทุกอย่างแล้ว เราคาดหวังผลตอบแทนเท่าไหร่ ก็มีโอกาสขาดทุนพอๆกัน (หรือมากกว่าในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงขึ้น) เมื่อเราสามารถประเมินตัวนักลงทุนเองได้ ว่าเราเหมาะสมกับการลงทุนประเภทใดได้แล้ว ส่วนของเวลาที่เรามีให้กับการลงทุนที่เลือกมาแล้ว มากน้อยแค่ไหน จะเป็นปัจจัยที่จะกำหนดว่าเราจะเลือกลงทุนด้วย “เครื่องมือ” ใดอีกขั้นหนึ่ง
ที่นี้ นักลงทุนก็พอจะทราบแล้วว่า เงินก้อนเดียวกัน แต่วิธีการสร้างผลตอบแทนนั้น มีได้หลากหลาย ลองใช้วิธีการง่ายๆ นี้ในเบื้องต้นและศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบเพิ่มเติม พิจารณาทางเลือกที่มี และตัดสรรให้เหมาะกับปัจจัยส่วนตัว ก่อนการลงทุนอีกครั้งนะครับ เปิดโลกการลงทุนให้มากกว่าแค่หุ้นหรือหวย รับรองท่านจะไม่เสียใจภายหลังแน่นอนครับ