องค์การอนามัยโลก (WHO) หวั่น ‘โอมิครอน-เดลตา’ ผนึกกำลังกลายเป็นสึนามิโควิด เตือนทั่วโลกรับมือโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกและทำให้วัคซีนในปัจจุบันไร้ประโยชน์
นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวเมื่อวานนี้ (29 ธ.ค.) ว่า โอมิครอนและเดลต้าอาจรวมตัวกันเป็นสึนามิโควิดครั้งใหญ่ ขณะที่การแพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งดื้อต่อวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้านี้ ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนถือเป็นเรื่องจำเป็น
ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วัคซีนในปัจจุบัน เช่น ไฟเซอร์ ยังคงสามารถป้องกันอาการร้ายแรงจากโอมิครอนได้แต่ประสิทธิภาพนั้นลดลง ซึ่งเข็มบูสเตอร์จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโอมิครอนได้อย่างมีนัยสำคัญ
นายแพทย์ทีโดรสกล่าวว่า หากเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดื้อต่อวัคซีน บริษัทผู้ผลิตจะต้องเร่งพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ซึ่งอาจหมายถึงการขาดแคลนฝั่งอุปทานอีกครั้ง โดยไวรัสจะยังพัฒนาและคุกคามระบบสาธารณสุขของโลกหากเราไม่เร่งรับมือในภาพรวม
WHO เตือนว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กำลังทำสถิติสูงสุดในหลายประเทศ รวมถึงในสหรัฐฯ โดยการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่าย โดยเกิดขึ้นหลัง WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ครั้งแรกเป็นเวลาเกือบ 2 ปี
นายแพทย์ทีโดรสยังได้กล่าวประณามแนวคิดประชานิยมและชาตินิยมระยะสั้นของผู้นำบางประเทศว่าเป็นบ่อนทำลายความเท่าเทียมรวมถึงสร้างความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อย่างที่เห็นในยุโรปและหลายประเทศว่า ข้อมูลที่ผิดหรือการบิดเบือนข้อมูลทำให้ผู้คนลังเลที่จะรับวัคซีน จนนำไปสู่การเสียชีวิตที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับวัคซีน
แม้จะมีภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง แต่นายแพทย์ทีโดรสมีมุมมองบวกต่อความเป็นไปได้ในอนาคตว่า ระยะรุนแรงของการแพร่ระบาดใหญ่จะสิ้นสุดในปี 2022
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel