องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกโรงเตือนอย่าชะล่าใจ ‘โอไมครอน’ แม้ผู้เชี่ยวชาญจากแอฟริกาใต้ระบุ อาการของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่นั้นไม่รุนแรง และสามารถรักษาตัวที่บ้านได้
WHO แถลงการณ์เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) ว่า รายงานการติดเชื้อครั้งแรกของแอฟริกาใต้เกิดขึ้นในหมู่นักศึกษา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ติดเชื้ออายุน้อยมักไม่ค่อยมีอาการรุนแรง โดยการศึกษาระดับความรุนแรงของโอไมครอนจำเป็นต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาการที่เกิดจากโอไมครอนนั้นแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ
ก่อนหน้านี้ แองเจลีค คูตซี ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้สังเกตเห็นผู้ป่วยโควิดจำนวนหนึ่งมีอาการแตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้าในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อาการเหล่านั้นไม่รุนแรง และสามารถรักษาตัวที่บ้านได้
โดยอาการหลักที่พบคือ ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยอย่างรุนแรงเป็นเวลา 2 วันติด ตามมาด้วยอาการปวดหัว และปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน แต่ไม่พบรายงานการสูญเสียกลิ่นหรือรสชาติ รวมถึงการลดลงของระดับออกซิเจนที่มักพบในผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า
แองเจลีค คูตซี กล่าวเสริมว่า ไอโมครอนถูกปั่นให้เป็นไวรัสที่อันตรายทั้งที่ยังไม่รู้ถึงระดับความรุนแรงที่แท้จริง ซึ่งแม้แต่ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับวัคซีนยังพบอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมั่นใจว่าตอนนี้ผู้คนจำนวนมากในยุโรปได้รับเชื้อโอไมครอนไปเรียบร้อยแล้ว
ข่าวเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่สร้างความผันผวนแก่ตลาดหุ้นทั่วโลกในวันศุกร์ผ่านมา (26 พ.ย.) ก่อนจะส่งสัญญาณที่สงบขึ้นเล็กน้อยในเช้าวันนี้ (29 พ.ย.) โดยตลาดหุ้นเอเชียยังคงปรับตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีฟิวเจอร์สในสหรัฐฯ และราคาน้ำมันทยอยฟื้นตัวดีขึ้น
แอฟริกาใต้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 3,220 ราย และมีเพียงหนึ่งในสามของผู้ใหญ่ชาวแอฟริกาใต้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดย Barry Schoub ประธานที่ปรึกษาด้านวัคซีนของแอฟริกาใต้กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่ดี แต่นี่เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นและยังไม่มีอะไรแน่นอน
WHO กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามีการรักษาตัวเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะเกิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าผลมาจากสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวทำให้หลายประเทศทั่วโลกประกาศมาตรการเพิ่มความเข้มงวดสำหรับการเดินทางจากทวีปแอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศในยุโรป รวมถึงออสเตรเลียเริ่มพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel