รัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าคุมเข้มการใช้พลังงานในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน นักวิเคราะห์เตือนอย่าสนใจแต่วิกฤติ Evergrande จนลืมภัยคุกคามครั้งใหม่

รัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าคุมเข้มการใช้พลังงานในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน นักวิเคราะห์เตือนอย่าสนใจแต่วิกฤติ Evergrande จนลืมภัยคุกคามครั้งใหม่

มาตรการคุมเข้มการใช้พลังงานได้รับแรงผลักดันมาจากทั้งความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ราคาถ่านหินและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงเป้าหมายการลดมลพิษของรัฐบาล

ทางการจีนเริ่มต้นด้วยการควบคุมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ ตั้งแต่โรงถลุงอะลูมิเนียม ผู้ผลิตสิ่งทอ ไปจนถึงโรงงานแปรรูปถั่วเหลือง โดยโรงงานต่างๆ ถูกสั่งให้ลดการผลิตลง หรือในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นคือถูกปิดตัวถาวร

เกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 23 มณฑลในจีน ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายด้านพลังงานของรัฐบาลได้ โดยเฉพาะมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และกวางตุ้ง 3 มณฑลแห่งอุตสาหกรรมที่ครองสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน

Ting Lu นักวิเคราะห์จาก Nomura เตือนว่า ตลาดกำลังมุ่งเน้นความสนใจไปที่วิกฤติ Evergrande และการควบคุมธุรกิจอสังหาฯ ทำให้มองข้ามการจัดระเบียบด้านพลังงานไป

เหตุการณ์ Evergrande บดบังวิกฤติด้านพลังงานในจีนที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ การคุมเข้มด้านพลังงานของจีนสะท้อนให้เห็นว่าอุปทานพลังงานทั่วโลกกำลังตึงตัว เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ ได้เพิ่มความต้องการใช้พลังงานจากทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ

นอกจากนี้ วิกฤติพลังงานจีนยังเกิดขึ้นจากความพยายามของปธน.สี จิ้นผิง ที่ต้องการเห็นท้องฟ้าอันปราศจากมลพิษในโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในเดือน ก.พ. ปีหน้า เพื่อให้ทั่วโลกเห็นถึงความจริงจังของจีนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประเทศจีนต้องใช้พลังงานจำนวนมากในฤดูหนาว และตอนนี้จีนกำลังขาดแคลนถ่านหิน และก๊าซอย่างรุนแรงในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ท่ามกลางราคาเชื้อเพลิงทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูงแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ราคาฟิวเจอร์สของถ่านหินเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า ในเดือนที่ผ่านมา จากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเหมือง การจำกัดการผลิตในประเทศเพื่อลดมลพิษ และการห้ามนำเข้าจากซัพพลายเออร์ชั้นนำของออสเตรเลีย ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติทั่วยุโรปและเอเชีย พุ่งสู่ระดับสูงสุดตามฤดูกาล เนื่องจากปัญหาขาดแคลนด้านอุปทาน

Zeng Hao หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญจาก Shanxi Jinzheng Energy กล่าวว่า ปีที่แล้วผู้คนเปลี่ยนไปใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเนื่องจากราคาไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นในฤดูหนาว แต่ความท้าทายของปีนี้คือ นโยบายภาครัฐที่จำกัดศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมพลังงาน ท่ามกลางความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก Nikkei รายงานว่า ซัพพลายเออร์ของ Apple และ Tesla หยุดการผลิตที่โรงงานบางแห่งในประเทศจีน ในขณะที่โรงงาน Foxconn หลายแห่งในจีน ซึ่งเป็นศูนย์การผลิต iPhone ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการใช้พลังงาน

บริษัทขนาดเล็กหลายแห่งเริ่มรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าถูกสั่งให้ระงับการผลิตลง แม้นักลงทุนต่างชาติจะไม่ได้ลงทุนในบริษัทเหล่านี้ แต่ปัญหาการขาดแคลนทุกอย่างตั้งแต่สิ่งทอไปจนถึงส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน และส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง

Ting Lu กล่าวว่า การควบคุมพลังงานของจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดโลก อีกไม่นานทั่วโลกจะเผชิญปัญหาขาดแคลนด้านอุปทานในทุกอุตสาหกรรม

นี่เป็นภัยคุกคามครั้งใหม่ของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับแรงกดดันหลายอย่างตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา และเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทำลายเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

Larry Hu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Macquarie Group กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องยอมรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจหากต้องการบรรลุเป้าหมายสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายเศรษฐกิจเติบโตที่ 6% ในปี 2021 ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การบรรลุเป้าหมายสิ่งแวดล้อมทำได้ยาก จากการเติบโตที่แข็งแกร่งถึง 12.7% ในช่วงครึ่งปีแรก

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-09-25/china-s-power-crunch-is-next-economic-shock-beyond-evergrande?sref=e4t2werz  

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024