วันนี้ (26 ก.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออก เดือน ส.ค. พบว่า มีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 7.5%
นี่เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 10.1% การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกไปได้ดี การส่งออกรถยนต์และ ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการที่กลับมาขยายตัว รวมไปถึงค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าส่งผลให้สินค้าบางรายการแข่งขันได้ แม้การนำเข้าจะกระทบไปบ้าง
ทั้งนี้ การนำเข้าเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 27,848.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านดอลลาร์
โดยภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 196,446.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.0% การนำเข้า มีมูลค่า 210,578.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 14,131.7 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ทั้งปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมาย 4% โดยเชื่อว่าจะเกินเป้าหมายแน่นอน แม้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะกระทบต่อการนำเข้า เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป แต่การส่งออกสินค้าบางตัวของไทยแข่งขันได้
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางความเสี่ยงที่กดดันภาวะ เศรษฐกิจการค้าโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวในหลายประเทศ สถานการณ์ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดในจีน ซึ่งล้วนส่งผลต่ออุปสงค์ จากประเทศคู่ค้า
แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีตามราคาอาหารทั่วโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง
ขณะที่นโยบายของสหรัฐฯ ที่จำกัดการเข้าถึง สินค้าเทคโนโลยีของจีน อาจทำให้มีอุปทานชิปประมวลผลส่วนเกินจากผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และยังเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศ การขาดแคลนพลังงานในทวีปยุโรป และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน อาจเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
——————-
👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel