News Update: 3 เหตุผลที่ IMF กังวลเกี่ยวกับคริปโทฯ ขาดการกำกับดูแล - โฆษณาบนโซเชียล - การกู้เงินมาลงทุน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กังวลตลาดคริปโทฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การกำกับดูแลไม่เป็นไปตามความเหมาะสม โดยมูลค่าตลาดรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10 เท่าของมูลค่าในช่วงเริ่มต้นปี 2020 และนี่คือ 3 เหตุผลที่ IMF กังวลเกี่ยวกับคริปโทฯ

💰 คริปโทฯ ขาดการกำกับดูแล

หนึ่งในปัญหาที่ IMF เน้นย้ำคือนักลงทุนและสถาบันการเงินจำนวนมากที่ซื้อขายคริปโทฯ ขาดทั้งการจัดการที่แข็งแกร่ง การกำกับดูแลจากภาครัฐ รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม

IMF กล่าวว่า นักลงทุนมีความเสี่ยงจากการเปิดเผยและการกำกับดูแลที่ไม่เพียงพอ โดยคริปโทฯ อาจทำให้เกิดช่องว่างของข้อมูล และอาจเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์ร้ายใช้เป็นช่องทางสำหรับการฟอกเงิน

สถาบันการเงินต่างๆ เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลเพื่อให้การลงทุนในคริปโทฯ มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยมุมมองต่อคริปโทฯ ยังเป็นเรื่องที่ผู้คนเห็นต่างกัน บางกลุ่มมองว่าคริปโทฯ คืออนาคตของโลกการเงิน ขณะที่บางกลุ่มเคลือบแคลงใจในความเสี่ยงของคริปโทฯ

💰 คริปโทฯ บนโซเชียลมีเดีย

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหราชอาณาจักร (FCA) เตือนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของโซเชียลมีเดียและการลงทุนคริปโทฯ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ผู้กำหนดนโยบายควรควบคุมการโฆษณาให้แน่ใจว่าผู้คนรับรู้ถึงความเสี่ยงและความผันผวนของคริปโทฯ

Charles Randell ประธาน FCA กล่าวว่า อินฟลูเอนนเซอร์มักได้รับเงินจากสแกมเมอร์ในการเชิญชวนให้ผู้คนลงทุนในโทเคนใหม่ๆ โดยมีอินฟลูเอนเซอร์บางคนกำลังโปรโมทโทเคนที่ไม่มีอยู่จริงเลยด้วยซ้ำ

เมื่อตอนต้นปี คิม คาร์เดเชียน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังเชิญชวนให้ผู้ติดตามบน IG มากกว่า 200 ล้านคน มาเก็งกำไรใน ‘Ethereum Max’ สกุลเงินคริปโทฯ ที่ถูกสร้างโดยนักพัฒนาซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก

💰 การกู้เงินมาซื้อคริปโทฯ

อีกปัญหาหนึ่งของผู้กำหนดนโยบายคือ กลุ่มวัยรุ่นส่วนมากกำลังสนใจลงทุนในตลาดคริปโทฯ และเลือกคริปโทเป็นสินทรัพย์แรกที่ลงทุน โดยอาจมีการกู้เงินหรือใช้บัตรเครดิตเพื่อมาลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว

ข้อมูลที่เผยแพร่โดย FCA ในเดือน มิ.ย. ระบุว่า จาก 2.3 ล้านคนในสหราชอาณาจักรที่มีการถือครองคริปโทฯ นั้น 14% ใช้บัตรเครดิตในการซื้อ และ 12% คิดว่าพวกเขาจะได้รับการคุ้มครองจาก FCA หากเกิดข้อผิดพลาดซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

การใช้เงินกู้หรือบัตรเครดิตมาลงทุนในคริปโทฯ​ เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหากนักลงทุนขาดทุนในคริปโทฯ แล้ว หลังจากนั้นนักลงทุนยังต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาชำระเงินกู้และดอกเบี้ยต่ออีก

อ้างอิง: https://www.cnbc.com/2021/12/24/cryptocurrencies-why-the-imf-is-concerned.html

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน