News Update: ราคาน้ำมันดิบเดินหน้าพุ่งต่อ คาด OPEC+ เตรียมชะลอกำลังการผลิต ตอบโต้การระบายน้ำมันของสหรัฐฯ และพันธมิตร

ราคาน้ำมันดิบพุ่งต่อ หลังตลาดคาดว่ากลุ่มโอเปกพลัสอาจชะลอแผนเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ม.ค. และ ก.พ. เพื่อตอบโต้การระบายน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร

ก่อนหน้านี้ กลุ่มโอเปกพลัสตกลงกันว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบให้ได้ 400,000 บาร์เรล ต่อวัน ในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ของปีหน้า ขณะที่สหรัฐฯ มองว่าปริมาณดังกล่าวยังน้อยเกินไป และเรียกร้องให้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก แต่กลุ่มโอเปกพลัสปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว

ราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯ พุ่งสู่ 6.2% สูงสุดในรอบ 31 ปี ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเร่งหาวิธีแทรกแซงเพื่อกดดันให้ราคาเชื้อเพลิงต่ำลง

เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) สหรัฐฯ ประกาศว่าจะระบายน้ำมันดิบออกจากคลังน้ำมันยุทธศาสตร์จำนวน 50 ล้านบาร์เรล และขอความร่วมมือจากประเทศผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่เพื่อกดดันราคาน้ำมันจากระดับที่อยู่ใกล้ๆ จุดสูงสุดในรอบ 3 ปี

ล่าสุด รัฐบาลอินเดีย และอังกฤษประกาศให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ โดยอังกฤษกล่าวว่า จะระบายน้ำมันจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่อินเดียจะปล่อยน้ำมันจำนวน 5 ล้านบาร์เรล ออกสู่ตลาด

การระบายน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพียงลำพังอาจไม่เพียงพอที่จะกดดันราคาน้ำมัน แต่หากรวมกับปริมาณน้ำมันดิบจากอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และอังกฤษ อาจสามารถกดดันราคาน้ำมันดิบลงได้ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมันเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น

สิ่งที่เป็นไปได้คือ กลุ่มโอเปกพลัสอาจลดกำลังการผลิตเพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจาก 6 ประเทศดังกล่าว เพื่อคงราคาน้ำมันดิบในตลาดให้อยู่ในระดับสูงต่อไป โดยกลุ่มโอเปกพลัสจะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. เพื่อกำหนดแผนการผลิตสำหรับเดือน ม.ค. และยังไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนปรนต่อเจตนาเดิมที่ตั้งไว้

กลุ่มโอเปกพลัสอาจละทิ้งแผนการเพิ่มการผลิตน้ำมันจำนวน 400,000 บาร์เรล ต่อวัน ในเดือน ม.ค. และ ก.พ. เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านบาร์เรลภายในเดือน ส.ค. แต่ Julian Lee นักกลยุทธ์ด้านน้ำมันของ Bloomberg มองว่า นี่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับประเทศสมาชิก

โดยนี่อาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบางประเทศที่กำลังดิ้นรนเร่งกำลังการผลิตให้ทันเป้าหมาย อย่างเช่น แองโกลา ไนจีเรีย และมาเลเซีย แต่อาจเป็นปัญหาสำหรับบางประเทศสมาชิกที่ต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตจำนวนมาก เช่น รัสเซีย

ขณะที่ ตลาดน้ำมันเริ่มพลิกผันจากขาดดุลเป็นเกินดุลในช่วงสิ้นปี 2021 ซึ่งนี่หมายความว่าสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอาจไม่ต้องระบายน้ำมันสำรองเป็นเวลานานเพื่อควบคุมราคาในตลาด

ซาอุดิอาราเบียสามารถลดกำลังการผลิตแค่ประเทศเดียวก็อาจเพียงพอต่อการชดเชยปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ซาอุฯ ต้องการเห็นความร่วมมืออันเป็นหนึ่งเดียวจากกลุ่มโอเปกพลัส

นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจดังกล่าวของกลุ่มโอเปกพลัสอาจเป็นความผิดพลาด เพราะการลดการผลิตเพียงครึ่งหนึ่งจากแผนเดิมที่ตั้งใจไว้อาจเพียงพอแล้ว และอาจทำให้กลุ่มโอเปกพลัสเผชิญกับต้นทุนที่แพงกว่าการใช้วิธีประนีประนอม

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-11-23/opec-counterpunch-to-spr-blow-will-come-at-a-cost-oil-strategy?sref=e4t2werz  

https://www.voathai.com/a/us-5-other-countries-to-tap-oil-reserves-to-ease-consumer-costs/6325113.html  

https://mgronline.com/around/detail/9640000116300  

https://www.bangkokbiznews.com/news/973551 

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024