News Update: สรุปวิกฤติพลังงานจีน หลังอากาศร้อนจัด จนแม่น้ำแยงซีแห้งขอด เกิดอะไรขึ้น? รุนแรงแค่ไหน? ส่งผลกระทบอย่างไร?

ตอนนี้จีนกำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงานอีกครั้ง ภัยแล้งครั้งใหญ่ทำให้แม่น้ำหลายสาย รวมถึงแม่น้ำแยงซี นั้นแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ มณฑลเสฉวนซึ่งใช้พลังงานน้ำมากกว่า 80%

นอกจากจะเป็นแม่น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียแล้ว ‘แม่น้ำแยงซี’ ถือเป็นเส้นทางหลักของเศรษฐกิจจีนและระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก ตอนนี้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีอยู่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 1865 เผยให้เห็นแนวทราย หิน และโคลนสีน้ำตาลที่มีกลิ่นเหม็นของปลาที่เน่าเปื่อย

🇨🇳ผลกระทบของภัยแล้งต่อชาวจีน

ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อชาวจีนอย่างน้อย 2.46 ล้านคน และพื้นที่การเกษตรราว 2.2 ล้านเฮกเตอร์ ในมณฑลเสฉวน เหอเป่ย หูหนาน เจียงซี อันฮุย และฉงชิ่ง นอกจากนี้ ทางการจีนต้องจัดรถให้บริการน้ำสำหรับบริโภคไปประจำตามพื้นที่อาศัยที่แห้งแล้งมาก

ขณะที่ ตึกระฟ้ายามค่ำคืนของศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนอย่างนครเซี่ยงไฮ้ต้องปิดไฟ บันไดเลื่อน และลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อประหยัดพลังงานในมาตรการลดใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 2 วัน

🇨🇳ความรุนแรงเมื่อเทียบกับวิกฤติพลังงานปีที่แล้ว

เมื่อมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดวิกฤติพลังงานนั้น วิกฤตปีนี้เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน คือ 1) อากาศที่ร้อนผิดปกติ และ 2) ภัยแล้ง ซึ่งน่าจะทุเลาลงเมื่อคลื่นความร้อนเริ่มสงบ ต่างจากวิกฤติในปีที่แล้วที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวในด้านการจัดหาไฟฟ้า

Diana Xia จาก Fitch Ratings กล่าวว่า การตัดหรืองดจ่ายไฟฟ้าในปีที่แล้วกดดันการเติบโตของ GDP จีนในไตรมาส 3 โดยกวางตุ้ง พื้นที่ภาคการผลิตหลักได้รับผลกระทบจากการตัดไฟในปีที่แล้ว ขณะที่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในปีนี้คือ มณฑลเสฉวน ซึ่งมีสัดส่วนด้านภาคการผลิตเพียง 4% ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน

🇨🇳 มรสุมเศรษฐกิจจีนกับความสั่นคลอนของรัฐบาลจีน

แม้ว่าผลกระทบต่อวิกฤติพลังงานในปีนี้จะดูรุนแรงน้อยกว่าปี 2021 แต่ภัยแล้งในปีนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จีนเผชิญกับมรสุมรอบด้านอยู่ก่อนแล้ว ตอนนี้วิกฤติพลังงานกำลังเพิ่มความท้าทายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์จากโควิด และวิกฤติอสังหาฯ​ในประเทศ

ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าอึดอัดสำหรับชนชั้นนำของจีน เพราะอีกไม่เดือน ปธน. ‘สี จิ้นผิง’ จะดำรงตำแหน่งครั้งประวัติศาสตร์คือ ขึ้นเป็นผู้นำจีนในวาระที่ 3 นอกจากนี้ นี่ยังเป็นเรื่องน่าอายสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน รวมถึง ปธน. สี และนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ที่เคยให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีก

🇨🇳ผลกระทบของวิกฤติพลังงานจีนธุรกิจที่ตั้งโรงงานในจีน

วิฤติครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแค่ในประเทศจีน ก่อนหน้านี้ Tesla ได้เตือนถึงการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ ขณะที่บริษัทอื่นๆ เช่น Toyota Motor และ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ต้องระงับการผลิตจากวิกฤตินี้

แม้ว่าเสฉวนจะไม่ใช่พื้นที่การผลิตหลักของจีน แต่ซัพพลายเชนของวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบแน่อน เพราะมณฑลเสฉวนผลิตลิเธียมประมาณ 20% อะลูมิเนียม 5% และโพลีซิลิคอน 13% ในประเทศจีน

ผลกระทบดังกล่าวจะนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ต้องมาดูกันต่อไปว่านี่จะเป็นผลกระทบแค่ชั่วคราวหรือถาวร?

อ้างอิง: 

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน

TSF2024