ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเป็นที่สนใจ เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่เริ่มวางแผนการผลิตในอย่างน้อย 3 ประเทศของอาเซียน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้มีราคาถูกลง
ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนและเกาหลีใต้ เป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ในขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งมียอดขายรถยนต์กว่า 80% ภายในภูมิภาคนี้ยังคงไล่ตามมา
กรณีประเทศไทย เป้าหมายคือภายในปี 2030 รถยนต์ที่ผลิตทั้งหมด 30% ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ประเทศไทยได้ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าลงเหลือ 2% จาก 8% เพื่อแลกกับสัญญาการผลิตในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายให้เงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท ต่อรถ EV หนึ่งคัน
จากนโยบายข้างต้น Great Wall Motor ของจีนตอบสนองด้วยการลดราคา Ora good cat ลง 8% เหลือ 763,000 บาท รถ Ora มากกว่า 4,700 คันถูกจองตั้งแต่ออกจำหน่ายในประเทศไทย ช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมากกว่ายอดขาย EV ทั้งหมดของประเทศถึงสองเท่าในปี 2021 นอกจากนี้ Great Wall Motor จะลดราคาลงอีกเมื่อการผลิตในไทยเริ่มต้นในปี 2023
Toyota Motor และ SAIC Motor ก็ใช้ประโยชน์จากแรงจูงใจนี้เช่นกัน โดย Toyota คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ผลิตในญี่ปุ่นภายในปลายปีนี้ และมีแผนเปลี่ยนมาผลิตในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดภายในปี 2024
นอกจากนี้ Mercedes-Benz Group เริ่มวางแผนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายในปีนี้ ขณะที่ปตท. ตั้งเป้าเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2024 กับ Hon Hai Precision Industry ผู้ผลิตชาวไต้หวันหรือที่รู้จักในชื่อ Foxconn
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดที่ชาร์จ EV สาธารณะ ทำให้รถ EV ยังไม่ถูกใช้งานอยู่แพร่หลาย อีกทั้งรถ EV ลดการปล่อยคาร์บอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก
ดังนั้นผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นจึงมุ่งเน้นการผลิตรถ EV รูปแบบปลั๊กอินไฮบริดแทน ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตชาวจีนและเกาหลีใต้กำลังพัฒนาเครือข่ายที่ชาร์จ EV สาธารณะเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในภูมิภาค ทำให้ญี่ปุ่นอาจสูญเสียการยึดครองตลาดรถยนต์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะแซงหน้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินได้ด้วยยอดขายภายในปี 2035
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel