News Update: แบงก์ชาติจีนหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ เหลือ 3.8% ส่งสัญญาณนโยบายการเงินสวนทางแบงก์ชาติทั่วโลก วิเคราะห์ นโยบายการเงินผกผันจีน-สหรัฐฯ

ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2020 แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายเข้มงวดรวมถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ตาม

🇨🇳 แบงก์ชาติจีนหั่นดอกเบี้ย LPR เหลือ 3.8%

เช้านี้ (20 ธ.ค.) PBoC ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) ระยะเวลา 1 ปี เหลือ 3.8% จาก 3.85% ขณะที่อัตราเงินกู้ระยะเวลา 5 ปี ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 4.65% โดยการปรับ LPR จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน

การแพร่ระบาดของโควิดทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของจีนแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากจีนเป็นประเทศแรกที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นประเทศแรกเช่นกันที่สามารถฟื้นตัวจากโควิดในเวลาที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยังต้องดิ้นรนเพื่อออกจากสภาะถดถอย

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนกังวลว่าการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายจะนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงิน จึงได้เริ่มลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อในตลาดอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง ในเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการประชุมครั้งสำคัญในปี 2022

🇨🇳🇺🇸 นโยบายการเงินผกผันของจีนและสหรัฐฯ

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ทิศทางนโยบายการเงินที่สวนทางกันของ 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อนักลงทุนและเศรษฐกิจโลก

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับใกล้ 0 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) กำลังเร่งสนับสนุนเศรษฐกิจที่ได้รับความตึงเครียดจากการคุมเข้มภาคอสังหา

ทิศทางนโยบายการเงินที่เปลี่ยนไปมีความเสี่ยงและอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อกระแสเงินทุนระหว่างประเทศ โดยการแข็งค่าของเงินหยวนและเงินทุนที่ไหลเข้าจีนเป็นประวัติการณ์อาจได้รับผลกระทบหาก Fed ดำเนินนโยบายเข้มงวดซึ่งมีผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และทำให้นักลงทุนเริ่มปรับพอร์ตการลงทุนจากความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แคบลง

🇨🇳🇺🇸 ความเห็นของนักวิเคราะห์

Ding Shuang นักเศรษฐศาสตร์จาก Standard Chartered กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนอยู่ในคนละช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยจีนได้ดำเนินนโยบายการแบบเข้มงวดไปแล้วจึงเตรียมกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและคาดว่าจะได้เห็นการเติบโตที่ทรงตัวในปีหน้า ในทางกลับกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอตัวลงในปีหน้าแต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าแนวโน้มการเติบโต

Helen Qiao นักเศรษฐศาสตร์จาก BofA Global Research กล่าวว่า ทิศทางนโยบายการเงินที่สวนทางกันจะไปเปลี่ยนความคาดหวังในความสอดคล้องระหว่างนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และจีน โดยสิ่งที่จะเห็นได้ทันทีคือ เงินหยวนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม Alejandra Grindal นักเศรษฐศาสตร์จาก Ned Davis Research มองว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น เช่น การเกินดุลการค้าขนาดใหญ่ที่เกิดจากการส่งออกที่พุ่งสูงขึ้น และอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ จะยังคงมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในระยะสั้น

Chang Shu นักเศรษฐศาสตร์จาก Bloomberg กล่าวว่า นโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่าง Fed และ PBoC หมายถึง ช่องว่างผลตอบแทนที่แคบลงระหว่างสินทรัพย์สกุลเงินหยวนและสกุลเงินดอลลาร์

ขณะที่ Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์จาก Maybank Kim Eng Research กล่าวว่า ความแตกต่างของธนาคารกลางจีนและสหรัฐฯ อาจเป็นประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงความสุดโต่งเกินไปสำหรับเศรษฐกิจโลก โดยสุดท้ายแล้วการเติบโตของทั้ง 2 ประเทศจะมาบรรจบกัน

อ้างอิง: 

https://www.cnbc.com/2021/12/20/chinas-central-bank-cuts-1-year-loan-prime-rate.html 

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-19/hawkish-fed-dovish-pboc-diverge-in-new-phase-of-pandemic-policy?sref=e4t2werz

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024