วันนี้ (18 ต.ค.) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2021: Shaping Digital Finance in the New Decade ในหัวข้อ “A New Decade of Opportunities” โดยเสนอมุมมองแนวคิดการปรับตัวของภาคการเงินในทศวรรษนี้ทั้งหมด 3 ประเด็น
🏦 การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะได้เห็นในภาคการเงินไทย
■ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง เช่น PromptPay ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว หรือ การนำ Blockchain มาใช้ออกหนังสือค้ำประกันให้กับองค์กรต่างๆ ที่ช่วยลดเวลาจากเดิม 3-5 วัน ให้เหลือเพียง 10 นาที
■ การเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบ non-bank เดี่ยวหรือ non-bank ร่วมมือกับธนาคาร ที่ทำให้ประชาชนและ SMEs เข้าถึงบริการทางการเงินบางประเภทได้ง่ายขึ้น เช่น บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล
รวมถึงผู้เล่นใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมอื่น เช่น กลุ่ม FinTech startups ที่ให้บริการเชื่อมโยงผู้กู้กับผู้ให้กู้โดยตรง หรือ BigTech platforms ผู้ให้บริการครบวงจรในลักษณะเป็น Decentralized Finance (DeFi) ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินทุกอย่างด้วย smart contracts ตัดบทบาทของตัวกลางออกไป
🏦 แนวทางและการปรับตัวของ ธปท. ในการสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ผ่าน “3 Open” 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป
■ Open, shared and interoperable infrastructure: สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม
เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดต้นทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน “Smart financial and payment infrastructure for business” ที่จะเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจทุกขั้นตอน ในขณะเดียวกัน พัฒนาเงินบาทดิจิทัล (CBDC) เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนและธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยได้ และยังมีการพัฒนา digital ID ภายใต้ NDID platform เพื่อใช้ยืนยันตัวตนสำหรับธุรกรรมในภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาครัฐ
■ Open environment: สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
ปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทั้งการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ และกำกับดูแลเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ (risk proportionality) รวมถึงปรับปรุง regulatory sandbox ให้ยืดหยุ่น เปิดรับนวัตกรรมของผู้เล่นใหม่ๆ และ ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ
■ Open data: พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้
การเข้าถึงข้อมูลผ่านการใช้เทคโนโลยี APIs ที่มีมาตรฐานร่วมกัน เพื่อลดความไม่เท่าเทียมของการมีข้อมูล และเพิ่มประโยชน์จากการใช้ digital footprint ซึ่งช่วยให้เกิดการแข่งขันกันที่บริการอย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับภาคธนาคารกำลังดำเนินการเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล bank statements เพื่อให้ลูกค้านำข้อมูลการเงินของตนเองไปขอใช้บริการอื่นๆ เช่น การขอสินเชื่อ หรือการยืนยันฐานะกับหน่วยงานอื่นได้สะดวกมากขึ้น และจะขยายไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่น ๆ ในระยะต่อไป
🏦 ประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการ จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
■ ประโยชน์ต่อประชาชน: เข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการรายบุคคลดีขึ้น (mass customization) มีทางเลือกมากขึ้น เข้าถึงผู้ให้บริการได้ง่ายขึ้น และมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ทำธุรกรรมโดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร
■ ประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ: ลดต้นทุนในการดำเนินงาน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นจากการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และการเข้าถึงข้อมูลที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
■ ประโยชน์ต่อผู้ให้บริการทางการเงิน: การปรับปรุงกฎเกณฑ์ของ ธปท. ที่ยืดหยุ่นขึ้น และการพัฒนาโครงการต่างๆ เช่น Smart financial and payment infrastructure จะช่วยลดต้นทุนและเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel