เงินเฟ้ออังกฤษเดือน เม.ย. พุ่ง 9% แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี จากราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น ส่งผลให้วิกฤติค่าครองชีพในอังกฤษทวีความรุนแรงขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.5% (MoM) และ 9% (YoY) สูงสุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลในปี 1989 และเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในปี 1982 ช่วงที่อังกฤษเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง และเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก
เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังสร้างแรงกดดันให้กับแบงก์ชาติอังกฤษ (BoE) ที่เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 4 ครั้งติดต่อกัน จาก 0.1% สู่ 1% ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี
Andrew Bailey ผู้ว่าการ BoE กล่าวว่า เงินเฟ้อและอาหารขาดแคลนจากสงครามยูเครนเป็นปัญหาสำคัญต่อทั่วโลก และได้ปฏิเสธที่จะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเร็วกว่านี้เพื่อระงับเงินเฟ้อ เพราะมองว่าปัญหาเกิดจากปัจจัยภายนอก
วิกฤติค่าครองชีพในอังกฤษทวีความรุนแรงและกำลังสร้างความลำบากแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ ผลสำรวจจาก Ipsos และ Sky News พบว่า 25% ของชาวอังกฤษกำลังอดอาหารบางมื้อ จากปัญหาเงินเฟ้อและวิกฤติอาหาร
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับแบงก์ชาติอังกฤษและธนาคารกลางทั่วโลกในการควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ปัจจัยภายนอกมีผลกระทบต่อระดับเงินเฟ้อมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย
ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับทั้งโอมิครอน การล็อกดาวน์ในจีน สงครามยูเครน การขนส่งที่หยุดชะงัก การเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศ ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซัพพลายเชนโลกกำลังเผชิญกับงานยาก
อ้างอิง:
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel