ตามคาด! ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ กังวลวิกฤติยูเครนเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ ยืนหยัดใช้นโยบายผ่อนคลายต่อไปแม้สวนทางทั่วโลก
วันนี้ (18 มี.ค.) BOJ ประกาศคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% รวมถึงคงเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ประมาณ 0%
🇯🇵 มุมมองบวกน้อยลงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
BOJ กล่าวในแถลงการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังขยายตัวตามแนวโน้ม ส่งสัญญาณมุมมองบวกน้อยลงจากการประชุมเดือน ม.ค. ที่ระบุว่า เศรษฐกิจกำลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้น
แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังได้เตือนถึงความเสี่ยงใหม่จากวิกฤติยูเครน ซึ่งทำให้ตลาดการเงินไม่มั่นคง และต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว
แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกกำลังชะงักลง จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและโควิด ที่ทำให้ผลผลิตและการบริโภคไม่ราบรื่น จน BOJ ได้ปรับลดมุมมองต่อภาคบริโภคลง เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสูงขึ้น
🛒 เงินเฟ้อญี่ปุ่นถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก
ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.6% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการพุ่งแรงที่สุดในรอบ 2 ปี ส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
ราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น โดยทั้งค่าไฟฟ้าและพลังงานในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นถึง 20% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อญี่ปุ่นถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อยูโรโซนในระดับ 5.9% และในสหรัฐฯ ที่ระดับ 7.9% โดยเงินเฟ้อในยุโรปและสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากค่าจ้างที่แพงขึ้น ต่างจากญี่ปุ่นที่เป็นผลจากฝั่งอุปทาน เช่น ราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น
🌎 นโยบายการเงินสวนทางยุโรปและสหรัฐฯ
ต่อให้เงินเฟ้อญี่ปุ่นจะขยับไปใกล้หรือเกินเป้าหมาย 2% ในไม่กี่เดือนข้างหน้า BOJ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมองว่าราคาที่ถูกขับเคลื่อนโดยพลังงานจะเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิดได้ไม่นาน
มุมมองนโยบายการเงินผ่อนคลายของ BOJ นั้นสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐฯ และอังกฤษ ที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
Hiroshi Shiraishi นักเศรษฐศาสตร์จาก BNP Paribas กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการเติบโตของเงินเฟ้อและค่าจ้างในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น BOJ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากอดทนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างน้อยก็จนกว่า Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบันจะครบวาระในเดือน เม.ย. ปีหน้า
สอดคล้องกับ Shotaro Kugo นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Daiwa ที่บอกว่า เงินเฟ้อญี่ปุ่นอยู่ในระดับปานกลางมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเขาไม่คิดว่า BOJ จะใช้นโยบายเข้มงวดเพียงเพราะว่าธนาคารกลางอื่นๆ เขาทำกัน
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel