เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวหลังได้รับผลกระทบจากทุกด้าน ตั้งแต่ อสังหาฯ ตกต่ำ วิกฤตพลังงาน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอ่อนแอ ไปจนถึง ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึง GDP ในไตรมาส 3 จะรายงานในวันจันทร์หน้า (18 ต.ค.)
ผลสำรวจจาก Bloomberg คาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP จีนในไตรมาส 3 จะชะลอตัวลงจาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า เหลือโตเพียง 5% และคาดว่าตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในเดือน ก.ย. จะอ่อนแอลง แต่ตัวเลขค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากฟื้นตัวจากการระบาดครั้งใหญ่
แนวโน้มเศรษฐกิจจีนแย่ลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังตลาดอสังหาฯ ถดถอย รวมถึงการขาดแคลนไฟฟ้าที่ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องลดการผลิตหรือปิดตัวลง ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
Liu Peiqian นักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Natwest Markets Plc กล่าวว่า ภาพการเติบโตในไตรมาส 3 ไม่สดใส เพราะทางการจีนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเป้าหมายระยะยาว มากกว่าเป้าหมายการเติบโตในระยะสั้น
5 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3
📌 อสังหาฯ ชะลอตัว: ทางการจีนเพิ่มความเข้มงวดในตลาดอสังหาฯ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน จนเกิดวิกฤติสภาพคล่อง Evergrande ที่ส่งผลต่อกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม
ยอดขายรวมของนักพัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกของจีน ในเดือน ก.ย. ลดลง 36% (YoY) ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มียอดขายบ้านสูงสุด ซึ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในวงกว้าง เพราะ Goldman Sachs ประมาณการว่าภาคอสังหาฯ ของจีนคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของ GDP จีน
📌 วิกฤตพลังงาน: โรงงานต่างๆ ถูกบังคับให้ลดหรือหยุดการผลิตจากปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า เป็นผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ในปีที่แล้ว แต่ตัวเลขการส่งออกที่แข็งแกร่งและการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ชี้ว่าผลกระทบจากวิกฤตไฟฟ้าต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจไม่เลวร้ายมากนัก
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมทุติยภูมิเพิ่มขึ้น 6% (YoY) แสดงถึงกิจกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งแม้เผชิญวิกฤตไฟฟ้าดับ โดยผลสำรวจจาก Bloomberg คาดการณ์ว่าการเติบโตการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. จะชะลอตัวเหลือ +3.9% (YoY) ใกล้เคียงกับตัวเลขในเดือน เม.ย. 2020
📌 การบริโภคอ่อนแอ: จีนต้องรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปลายปี 2019 และอีกครั้งในกลางเดือน ก.ค. 2021 จากการแพร่ระบาดของเดลต้า โดยแม้เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเดลต้าได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย. แต่การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของทางการจีนส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างรุนแรง
📌 การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว: รัฐบาลท้องถิ่นจีนเริ่มผ่อนคลายการควบคุมไวรัสในปลายเดือน ส.ค. ทำให้กิจกรรมภาคบริการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อตัวเลขค้าปลีกในเดือน ก.ย. โดยผลสำรวจจาก Bloomberg คาดการณ์ว่าตัวเลขค้าปลีกในเดือน ก.ย. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จาก 2.5% ในเดือนก่อนหน้า
📌 การส่งออกเฟื่องฟู: ตัวเลขส่งออกที่แข็งแกร่งกว่าคาดเป็นข่าวดีของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางมรสุมข่าวร้าย ความต้องการสินค้าจีนในประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังประเทศเกิดใหม่ เช่น เวียดนาม ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเดลต้า นอกจากนี้ ผู้ซื้อจำนวนมากได้สั่งตุนสินค้าสำหรับช่วงคริสต์มาสล่างหน้า เพื่อรับมือกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-14/china-s-economy-is-showing-strain-from-property-to-energy-crises?sref=e4t2werz
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel