News Update: 5 ประเด็นสำคัญต้องจับตาในการประชุม Fed พาวเวลล์ ส่งสัญญาณนโยบายการเงินเข้มงวด QE Tapering เร็วขึ้น 2 เท่า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะยุติมาตรการ QE เร็วขึ้น พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า เพื่อตอบโต้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแรงสุดนับตั้งแต่ปี 1982

🏦 QE Tapering เร็วขึ้น 2 เท่า

ก่อนหน้านี้ (30 พ.ย.) เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวว่า อาจพิจารณายุติมาตรการ QE ให้เร็วขึ้นจากเดิม 2-3 เดือน จากแผนเดิมที่จะสิ้นสุดในช่วงกลางปี 2022 โดยจะหารือกันในการประชุม Fed วันที่ 14-15 ธ.ค.

ขณะที่ Philip Marey นักกลยุทธ์จาก Rabobank มองว่า ความเร็วในการ QE Tapering ตามกำหนดเดิมไม่สามารถตอบโต้กับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงได้ ดังนั้น มีแนวโน้มที่ Fed จะเพิ่มความเร็วในการ Tapering เป็น 2 เท่า สู่การลดวงเงินเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้มาตรการ QE สิ้นสุดในเดือน มี.ค.

🏦 เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีหน้า

นักเศรษฐศาสตร์เกินครึ่งคาดว่า รายงานการประชุมจะแสดงค่ามัธยฐานของเจ้าหน้าที่ Fed 18 ราย ที่ต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีหน้า ซึ่งแตกต่างจากคาดการณ์ในเดือน ก.ย. ที่เจ้าหน้าที่ Fed ครึ่งนึงมองว่าต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า และอีกครึ่งมองว่าควรเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2023

Laura Rosner-Warburton นักเศรษฐศาสตร์จาก Macropolicy Perspectives กล่าวว่า นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของ Dot Plot หรือ กราฟคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของ Fed

ผู้เชี่ยวชาญจาก Bloomberg คาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า 3 ครั้งในปี 2022 และอีก 2 ครั้งในปี 2024 โดยอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในช่วงสิ้นปี 2024 จะอยู่ที่ประมาณ 1.9% ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักเศรษศาสตร์ส่วนใหญ่ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะ 2% ในปี 2024

🏦 มุมมองที่เข้มงวดมากขึ้นของ Fed

มุมมองของ Fed มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นหลังอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือน ต.ค. และ 6.8% ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982

Diane Swonk นักเศรษฐศาสตร์จาก Grant Thornton LLP กล่าวว่า การคาดการณ์ของ Fed จะระบุถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การว่างงานที่ลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในปี 2022 ซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่ Fed ต้องไล่ตามภาวะเงินเฟ้อ

🏦 ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโอมิครอน

เจ้าหน้าที่ Fed ส่วนใหญ่มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของโอมิครอน โดยนักเศรษฐศาสตร์ประมาณ 2 ใน 3 มองว่า Fed มีแนวโน้มที่จะกล่าวถึงความตึงเครียดระดับนึงของโอมิครอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สหรัฐฯ ยังคงมีศักยภาพในการเพิ่มราคาอยู่

James Knightley นักเศรษฐศาสตร์จาก ING Financial Markets กล่าวว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดจากโอมิครอนอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการจ้างงาน ขณะเดียวกันโอมิครอนมีผลกระทบที่หลากหลายต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยเขาคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า และหากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าโอมิครอนไม่ได้รุนแรง แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3 ครั้งในปีหน้า

🏦 ผู้ชิงตำแหน่ง Vice Chair for Supervision

ก่อนหน้านี้ (23 พ.ย.) ปธน.สหรัฐฯ โจ ไบเดน เลือก ‘เจอโรม พาวเวลล์’ เป็นประธาน Fed สมัยที่ 2 และแต่งตั้ง ‘เลอัล แบร์นาร์ด’ เป็นรองประธาน Fed แต่ยังคงมีอีก 3 ตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ ซึ่งรวมถึงตำแหน่ง Vice Chair for Supervision

นักเศรษฐศาสตร์เสียงแตกว่าใครจะได้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าว โดยผลโพลเป็นไปตามนี้ 34% เลือก Richard Cordray อดีตผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองการเงินผู้บริโภค, 25% เลือก Sarah Bloom Raskin อดีตผู้ว่าการ Fed และ 19% เลือก Raphael Bostic ประธาน Fed สาขาแอตแลนตา

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-13/fed-seen-delivering-one-of-the-most-hawkish-pivots-in-years?sref=e4t2werz

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
TSF2024