‘พาวเวลล์’ อาจต้องผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่ง 8.6% ในเดือน พ.ค. สูงสุดในรอบ 40 ปี
หลังใช้นโยบายผ่อนคลายมาต่อเนื่องตลอดปีที่แล้ว ปีนี้พาวเวลล์เริ่มใช้นโยบายเข้มงวดแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น เพื่อป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากภาวะถดถอยแบบรุนแรงแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ Paul Volcker อดีตประธาน Fed เมื่อ 40 ปีที่แล้ว
‘เจอโรม พาวเวลล์’ ประธาน Fed เพิ่งยอมรับไม่นานมานี้ว่า การควบคุมเงินเฟ้ออาจทำให้เศรษฐกิจเจ็บปวดและการว่างงานสูงขึ้น แต่เขาหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”
โดย Alan Blinder อดีตผู้กำหนดนโยบายของ Fed กล่าวว่า พาวเวลล์ไม่ต้องการให้คำว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หลุดออกจากปากเขา แต่เขาจะเลือกใช้คำสละสลวยมากมายแทน
ด้าน Bruce Kasman จาก JPMorgan มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่เกิดภาวะถดถอย โดยเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องและตลาดแรงงานที่ตึงตัวจะส่งผลให้ค่าจ้างและต้นทุนของบริษัทสูงขึ้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือน ก.ค. และ ก.ย. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า Fed เริ่มหารือถึงการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 75 bps แล้ว
BoA กล่าวว่า Fed อาจปรับระดับเงินเฟ้อเป้าหมายจาก 2% เป็น 3% และจัดการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอย เช่นเดียวกับ Olivier Blanchard อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ที่แนะนำว่า Fed ควรหยุดใช้นโยบายเข้มงวดเมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 3%
อย่างไรก็ตาม Peter Hooper นักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยกล่าวว่า หาก Fed ถอยออกจากเป้าหมายราคา 2% นั่นจะกลายเป็นความผิดพลาดเหมือนที่เคยเกิดในยุคของ Arthur F. Burns อดีตประธาน Fed ปี 1970 -1978 ซึ่งพาวเวลล์ไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น
อย่างน้อยตอนนี้พาวเวลล์ก็มีสิ่งที่ Arthur Burns ไม่มีคือ การสนับสนุนทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ เพราะในเดือนที่แล้ว ไบเดนยืนยันว่า Fed มีอิสระอย่างเต็มที่ในการใช้มาตรการใดๆ ที่คิดว่าจำเป็นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel