เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่ง 7% ถือเป็นระดับการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ 1982 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่สินค้าและแรงงานกำลังขาดแคลน
เมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนที่แล้ว และ 7% จากปีที่แล้ว สูงกว่าระดับ 6.8% ในเดือน พ.ย.
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.5% จากปีที่แล้ว และ 0.5% จากเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นระดับการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1991
รายงานดังกล่าวเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ ซึ่งผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ดัชนี CPI จะเพิ่มขึ้น 7% จากปีที่แล้ว และ 0.4% จากเดือน พ.ย. ส่งผลให้เมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกเล็กน้อยโดย Dow Jones +0.11%, S&P 500 +0.28% และ Nasdaq +0.23%
Fed กำลังจับตาตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (11 ม.ค.) ‘เจอโรม พาวเวลล์’ ประธาน Fed ยืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้ดีและต้องการนโยบายที่เข้มงวดขึ้นแล้ว โดยเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งและจะเริ่มลดขนาดงบดุลในช่วงปลายปี
อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นกำลังกัดกินค่าจ้างของแรงงาน ตามการคำนวณของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายได้เฉลี่ยที่แท้จริงต่อชั่วโมงของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากเดือนที่แล้ว แต่ลดลง 2.4% จากปีที่แล้ว
ตามเครื่องมือ FedWatch ของ CME ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้เกือบ 79% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ค. และมีความเป็นไปได้ประมาณ 50% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้
อ้างอิง: https://www.cnbc.com/2022/01/12/cpi-december-2021-.html
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel