นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565
คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤต COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ตามการผ่อนคลายนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศและความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว แต่ผลกระทบต่อแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่บางกลุ่มยังเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนสูง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
—
นี่ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของ กนง. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 โดย กนง. ได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมครั้งนั้น
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กนง. ได้ตัดสินใจใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการลดดอกเบี้ยถึง 5 ครั้ง จนอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 0.50% ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2563 จนถึง มิ.ย. 2565
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จึงเป็นการปิดฉากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำของไทย ที่กินเวลายาวนานถึง 2 ปี
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
——————-
👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel